POLITICS

เพื่อไทยเสนอชื่อ ’แพทองธาร‘ ไร้คู่แข่ง สภาหวิดวุ่นหลัง สส.เพื่อไทยเสนอไม่ต้องอภิปราย ลงมติเลย

วันนี้ (16 ส.ค.67) เวลา 10.00 น.ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 2 ครั้งที่ 15 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล สมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว พรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลในการเสนอชื่อ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีผู้เสนอชื่อนางสาวแพทองธารเพียงคนเดียว โดยมีผู้แสดงตนรับรองการเสนอชื่อ 291 คน ด้าน สส.พรรคเพื่อไทย นำโดย นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายว่าเนื่องด้วยฝ่ายค้านยังไม่สมบูรณ์ จึงขอให้มีการลงมติโดยไม่มีการเปิดอภิปราย

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิกรายถึงเหตุผลที่นายอดิศร กล่าวอ้างว่าฝ่ายค้านยังไม่สมบูรณ์ อนุมานว่าน่าจะหมายถึงยังไม่มีการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการ และผู้ที่จะถูกเสนอชื่อไม่ได้มาที่สภาฯ ย้อนไปในการพิจารณาบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีวันที่ 22 ส.ค.66 ที่นายเศรษฐา ทวีสิน ได้คัดเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ฝ่ายค้านก็ยังไม่สมบูรณ์ และนายเศรษฐา ก็ไม่ได้มาที่สภาฯ ด้วย จึงเป็นเหตุผลที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ก่อนที่นายอดิศร จะขอถอนคำพูดดังกล่าวในภายหลัง

นายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นอภิปรายยกการเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งที่ได้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งครั้งนั้นที่ประชุมได้ถกเถียงเรื่องการเสนอญัตติซ้อนญัตติ เหมือนการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากนายวันมูหะมัดนอร์ จะขอให้มติในเรื่องดังกล่าว สิ่งที่ทำจึงจะเป็นมาตรฐานในการเลือกนายนายกรัฐมนตรีต่อไป

ก่อนที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเปิดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายไม่เกิน 20 นาที โดยไม่ให้อภิปรายเรื่องคุณสมบัติ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของรัฐสภา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเลือกนายกฯ ครั้งนี้ จะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2562 ที่จะใช้เสียง สส.ในการโหวตเลือกนายกฯ โดยไม่มี สว.มาร่วมโหวต ตามมาตรา 272 รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 โดยผู้ที่จะได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ จะต้องได้คะแนนเสียง 248 เสียงขึ้นไป หรือมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สส.ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมี สส.ทั้งสิ้น 493 คน แบ่งเป็น

พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล 314 คน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 141 คน พรรคภูมิใจไทย 70 คน พรรคพลังประชารัฐ 40 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 10 คน พรรคประชาชาติ 9 คน พรรคชาติพัฒนา 3 คน พรรคไทรวมพลัง 2 คน พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังสัมคมใหม่ และพรรคท้องที่ไทย พรรคละ 1 คน

ส่วนฝ่ายค้านมี 179 คน ประกอบด้วย พรรคประชาชน 143 คน พรรคประชาธิปัตย์ 25 คน พรรคไทยสร้างไทย 6 คน พรรคเป็นธรรม พรรคใหม่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และพรรคไทยก้าวหน้า พรรคละ 1 คน

Related Posts

Send this to a friend