กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นด้วยชงศาล รธน.ตีความรอบที่ 3
ซัดคนวอลค์เอาท์-ไม่แสดงตนคือ ผู้ถ่วงรั้งกระบวนการประชาธิปไตย
วันนี้ (14 ก.พ.68) กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และนางสาวจีรนุช เปรมชัย แถลงข่าวหลังจากที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถประชุมต่อได้เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2
นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ถึงแม้วันนี้จะยังไม่ได้เริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราก็จะเดินหน้ารณรงค์จนกว่าจะได้มา ขอขอบคุณสมาชิกรัฐสภาทั้ง 175 คน ที่ยืนยันว่าเรื่องนี้ต้องพิจารณาต่อไปให้ได้ และขอมองคนอื่นเหลือ และทั้งคนที่เลือกจะวอคเอ้าท์หรือคนที่มานั่งอยู่ในห้องประชุม แต่ไม่ยอมแสดงตน ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อถ่วงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่อย่างไรเสียก็จะต้องเกิดขึ้นพวกเขาได้แค่ถ่วงเวลาไปเฉย ๆ
ญัตติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังคงเป็นญัตติแรก ซึ่งต้องนำกลับมาพิจารณาอีกครั้งอาจจะใช้เวลาอีก 3-4 เดือน และยืนยันว่าเราไม่เห็นด้วยกับการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นครั้งที่ 3 เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นข้อยืนยันที่ชัดเจนที่สุด ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา และหวังว่าเมื่อเรื่องนี้ได้นำกลับขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งจะได้เห็นความจริงใจมากกว่าการเล่นเกมทางการเมือง
นางสาวจีรนุช กล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ง่ายที่สุดคือการแก้ไขมาตรา 256 และในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีเพียง 2 พรรคการเมืองที่ได้รับฉันทมติจากประชาชนให้จัดรัฐธรรมนูญใหม่ แต่เราเห็นได้ว่าจากการถ่วงเวลาต่าง ๆ ที่ผ่านมา ทั้งการเรื่องการยื้อพ.ร.บ.ประชามติ เราเห็นอยู่ว่าใครทำอะไร และใครเป็นผู้ถ่วงรั้งกระบวนการประชาธิปไตย
แม้จะมีข้ออ้างว่าช้าแต่ชัวร์ แต่จะชัวร์ได้อย่างไร ถ้าหากไม่ชัวร์แบบที่รับปากไว้ ขอถามว่าจะทำอย่างไรกับเพื่อนร่วม ครม. ขอฝากไปยังหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและ สส.พรรคเพื่อไทย ที่เคยสัญญาว่าช้าแต่ชัวร์ แต่เราไม่เห็นอะไรนอกจากเกมถ่วงรั้ง ถ้าผ่านไปแล้วหนึ่งเดือนไม่เกิดอะไรขึ้นถือว่านโยบายของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ล้มเหลว ซึ่งเราจะติดตามต่อไปในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ถ้ายังไม่เกิดอะไร แล้วเอาคนที่ถ่วงรั้งมานั่งใน ครม.คิดว่าจะเป็นที่สะอิดสะเอียนแก่ประชาชน ที่ต้องดูละครฉากใหญ่
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ระบุว่าแม้ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยังคงค้างอยู่ในที่ประชุม แต่ทางออกของปัญหาคือนายกรัฐมนตรีต้องไปเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล และเดินหน้าเรื่องนี้ต่ออย่างจริงจัง
ขณะที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาน กล่าวว่าขอเป็นกำลังใจให้กับประชาชนที่ติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาเรื่องนี้เหมือนจะเป็นฉันทมติ ระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่พบว่าเป็นทางเทคนิคและกระบวนมากกว่า จึงมองว่าควรไปให้ความสนใจเนื้อหาสาระมากกว่า ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 60 มีข้อมูลอย่างไร เพราะยิ่งประชาชนนอกรัฐสภาเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากเท่าไหร่ เชื่อว่าเสียงนั้นก็จะดังเข้ามาสู่ในที่ประชุมรัฐสภาได้มากขึ้น