POLITICS

วุฒิสภา มีมติเห็นชอบวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559

ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบวาระ 3 ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 14/2559 เกี่ยวกับคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ เพื่อกำหนดให้มีสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความเชื่อมโยงประชาชนให้การแก้ปัญหาความไม่สงบมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การประชุมวุฒิสภา วันนี้ (13 ส.ค. 67) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 4 เมษายน 2559 พ.ศ…. ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว โดยวุฒิสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 12 กันยายนนี้ โดยนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า การกำหนดให้คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ขึ้นมาทำหน้าที่ทำให้การพัฒนาและการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สำเร็จ และยังมีปัญหาข้อขัดข้องในการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายประการ ส่งผลให้การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง จึงสมควรให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว นอกจากนั้น ยังให้คณะที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามฉบับดังกล่าวสิ้นสุดลง

นอกจากนั้น คำสั่ง คสช. ยังกำหนดบทบาทให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือศูนย์อำนวยการบริหารราชการชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และส่วนราชการพลเรือนอื่น ๆ ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ลดความไว้วางใจของประชาชนต่อกระบวนการสร้างสันติภาพและการพัฒนาพื้นที่ และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2553 เป็นเหตุสมควรให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวดังกล่าว

จากนั้น สมาชิกวุฒิสภาได้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง โดยเห็นด้วยกับหลักการของร่างกฎหมายที่ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ดังกล่าว และเห็นว่าการแก้ปัญหารของภาครัฐต้องมีโครงสร้างที่ยึดโยงกับประชาชนในพื้นที่ และควรให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2553 กลับมาทำหน้าที่ตามเดิม เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ควบคู่กับการทำหน้าที่ของ กอ.รมน ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ซึ่งท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบวาระที่ 1 ขณะเดียวกัน ที่ประชุม เห็นชอบให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่ 2 โดยคณะกรรมาธิการเต็มสภา ซึ่งเป็นการพิจารณารายมาตรา มีทั้งสิ้น 5 มาตรา และลงมติเห็นชอบในวาราะที่ 3 ด้วยคะแนนเห็นด้วย 189 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 3 เสียง

Related Posts

Send this to a friend