รฟท.เนื้อหอม เอกชนเบนเข็มขนส่งทางราง หลังต้นทุนเชื้อเพลิงพุ่งไม่หยุด

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า จากปัญหาราคาน้ำมันเพิ่มสูง ทำให้ขณะนี้มีลูกค้าหลายบริษัทติดต่อมายัง รฟท.อย่างต่อเนื่อง โดยสนใจหันมาใช้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟแทนรถบรรทุก เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงทำให้ค่าขนส่งทางถนนเพิ่มตามไปด้วย ขณะที่การขนส่งทางรางสามารถช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้ารายใหม่ประมาณ 10 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปและเปิดเดินขบวนรถขนส่งสินค้าได้ภายในปีนี้
ทั้งนี้ รฟท.มีโบกี้รถบรรทุกตู้สินค้า หรือแคร่ขนสินค้า ประมาณ 1,000 คัน โดยใช้ขนสินค้าแบบเหมาขบวน 60% และแบบรายย่อย 40% แต่ขณะนี้การใช้แคร่ขนสินค้าค่อนข้างตึงตัว รฟท.จึงมีแผนจัดหาโบกี้รถบรรทุกตู้สินค้า 965 คัน วงเงินประมาณ 2.3 พันล้านบาท (ประมาณ 2-3 ล้านบาท/คัน) รองรับการเติบโตของการขนส่งสินค้าทางรางในอนาคต ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม ในรูปแบบการจัดหาที่เหมาะสม ระหว่างการซื้อหรือการเช่า รวมถึงหาโมเดลการจัดหาอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้มีความเหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด
นายนิรุฒ ยังกล่าวว่า เมื่อการก่อสร้างรถไฟทางคู่แล้วเสร็จ จะทำให้การบริหารจัดการเดินรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ตรงเวลา ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจหันมาใช้รถไฟในการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน สัดส่วนรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารกับขนส่งสินค้าอยู่ที่ 70:30 ซึ่งที่ผ่านมา รฟท.มุ่งเน้นบริการเชิงสังคม ไม่ได้มุ่งที่กำไรเป็นหลัก แต่วันนี้ต้องเปลี่ยนไปดึงสินค้าจากถนนให้มาขนส่งทางราง แม้จะมีปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มในช่วงแรก แต่อาจจะยังไม่มีกำไรเพิ่มมากนัก แต่เชื่อว่า เมื่อมีการขนส่งทางรางปริมาณมากขึ้นในอนาคต รายได้และกำไรจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
สำหรับต้นทุนการขนส่งสินค้า เฉพาะส่วนของค่าน้ำมันเชื้อเพลิง การปรับขึ้นของราคาน้ำมันดีเซลทุก 1 บาท /ลิตร รฟท.จะมีภาระต้นทุนเพิ่ม ประมาณ 2 ล้านบาท/เดือน ปัจจุบันการให้บริการขนส่งสินค้า รฟท. ต้องรับภาระค่าน้ำมันที่ตรึงไว้ที่ 30 บาท/ลิตร เพื่อช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายให้ภาคเอกชน ตามนโยบายกระทรวงคมนาคมเป็นเวลา 3 เดือน (มิถุนายน-สิงหาคม 2565) ซึ่งการตรึงต้นทุน 30 บาท /ลิตร เท่ากับมีส่วนต่างประมาณ 3 บาท/ลิตร หากครบระยะเวลา 3 เดือนในการตรึงราคาน้ำมัน รฟท.จะพิจารณาประมาณการค่าใช้จ่ายอีกครั้งว่า มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานทำให้ขาดทุนเพิ่มแค่ไหน