POLITICS

ผู้ค้า ‘เราชนะ’ บุกทำเนียบฯ จี้ นายกฯ เห็นใจ หลังตกเป็นลูกหนี้โครงการรัฐ ต้องชดใช้

ผู้ค้า ‘เราชนะ’ บุกทำเนียบฯ จี้นายกฯเห็นใจ หลังตกเป็นลูกหนี้โครงการรัฐ ต้องชดใช้เงินหลักล้าน  โยนถามถ้าโครงการมีปัญหาทำไมไม่จัดการให้เรียบร้อยก่อนให้ประชาชนใช้ 

วันนี้ (12 ต.ค. 64) กลุ่มผู้ค้าโครงการเราชนะร่วม 100 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม หลังถูกกระทรวงการคลังส่งหนังสือเรียกเก็บเงิน โดยระบุว่าผู้ค้าที่เข้าร่วมโครงการเราชนะต้องชำระหนี้ภายใน 30 วัน ซึ่งกลุ่มผู้ค้ามองว่า เป็นการเอาเปรียบ เพราะของที่ขายออกไปล้วนเป็นเงินต้นทุนที่จะต้องสำรองจ่ายซื้อไปก่อน โดยมีนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนรวบรวมหนังสือคำร้อง ยื่นร้องเรียนที่ศูนย์ร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล

นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ระบุว่า โครงการเราชนะเป็นโครงการที่รัฐบาลคิดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน เงินก็เป็นของประชาชน รัฐบาลได้หน้าแต่ตอนนี้ประชาชนกลับได้หนี้ ซึ่งความเป็นจริงไม่ใช่ภาระของผู้ค้าที่จะต้องมาแบกรับ แม้รัฐหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ก็ไม่ได้คิดถึงคนที่ค้าขาย ตนจึงเข้ามาให้ความช่วยเหลือเพราะเห็นว่าประชาชนไม่ควรจะไม่ได้รับความยุติธรรมแบบนี้ พร้อมถามกับกลุ่มผู้ค้าถ้าย้อนเวลาได้จะเข้าร่วมโครงการนี้หรือไม่ โดยผู้ค้าทุกคนตอบพร้อมเป็นเสียงเดียวกันว่า “จะไม่เข้า’ ตนจึงหวังว่ารัฐบาลจะเห็นความเดือดร้อนของประชาชนที่หลายคนตั้งใจเดินทางมาขอความเป็นธรรมในวันนี้

ขณะที่ นายวิฑูรย์ สุทธิดี ผู้ประกอบกิจการร้านปิ้งย่างในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ถูกเรียกเก็บหนี้ 17.9 ล้านบาท บอกว่าเข้าร่วมโครงการ “เราชนะ” ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน ตั้งแต่เปิดร้านมาได้ 12 ปีครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีหนี้มากที่สุดในชีวิต ตอนแรกที่เข้าร่วมโครงการก็ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา ทั้งนี้ยืนยันว่าตนไม่ได้ทำผิดกติกา และไม่ได้โกงเงินในโครงการ รวมถึงได้เตรียมเอกสารหลักฐานการซื้อวัตถุดิบเข้าร้านไว้แล้ว เพื่อที่จะยื่นเรื่องอุทธรณ์ หากการมาขอความเป็นธรรมครั้งนี้ไม่ได้รับการเหลียวแล รัฐบาลยังจะผลักภาระให้ประชาชน พร้อมยอมรับว่าเครียดมาก ที่ร้านไม่มีเงินรายได้ส่วนอื่นเข้ามาหากเข้ามาใช้หนี้ 17 ล้านจะเอาเงินที่ไหนกิน 

หญิงรายหนึ่งที่มายื่นหนังสือวันนี้กล่าวว่า ตนประกอบอาชีพค้าขายเสื้อผ้าเด็ก มีร้านประจำในตลาดที่จังหวัดนนทบุรี ลงทะเบียนร้านค้าที่นนทบุรี และเดินสายขายสินค้าแบบสัญจรที่ต่างจังหวัด ในงานกาชาดงานประจำปีด้วย มาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดนนทบุรีทำให้ไม่สามารถเปิดร้านขายในตลาดได้ จึงตัดสินใจนำสินค้าออกไปขายที่ต่างจังหวัดที่ผ่อนคลายมาตรการแล้ว  ไปขายงานประจำปีในจังหวัดในภาคอีสาน จังหวัดละ 10 วัน 

หากไปย้อนดูประวัติที่ระบุว่ามีการซื้อสินค้าจากนอกเขตที่ลงทะเบียนจะพบว่า จะมีลูกค้ามาแสกนซื้อสินค้าในจังหวัดเดียวกันติดต่อเป็นระยะเวลา 10 วัน ใน 5 จังหวัดแน่นอน ยืนยันว่าไม่เคยขายออนไลน์เพราะขายไม่เป็น มีหน้าร้านชัดเจน ไม่เคยรับแสกนเพื่อแลกเป็นเงินสด เพียงแค่เดินทางไปขายสินค้าหลายๆจังหวัด ก็ทำให้ผิดเงื่อนไข และถูกเรียกเงินคืนกว่า 280,000 บาท 

ซึ่งก่อนหน้านี้ หญิงรายนี้ระบุว่าเธอเคยถูกระงับจากระบบถุงเงินในช่วงเดือนพฤษภาคมมาแล้วโดยไม่ทราบเหตุผล จึงไปยื่นคำร้องด้วยตนเองที่กระทรวงการคลัง โทร. ติดตามเรื่องมาตลอดแต่ไม่มีความคืบหน้า จนต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีหนังสือจากกระทรวงการคลังระบุให้จ่ายเงินคืน

“…ไม่ใช่ว่าไม่ใส่ใจ เราดิ้นรนมาตลอด ดิ้นรนมาตั้งแต่แรก ทั้งๆที่ไม่เคยได้รับหนังสือว่าเราทำผิด แค่เราถูกระงับแล้วเราสงสัยว่าเพราะอะไร ได้ข้อมูลมาก็ดิ้นรน ทำเอกสารชี้แจงส่งไป ก็ไม่เป็นผลอะไร…” หญิงผู้ประกอบอาชีพค้าขายที่ได้รับผลกระทบกล่าว

นอกจากนี้ทีมข่าวยังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่มาร้องเรียน เป็นร้านค้าที่สัญจรไปขายหลายจังหวัดหรือมีการขายออนไลน์ให้ลูกค้าที่อยู่ทั่วประเทศ จ่ายผ่านระบบเป๋าตังค์ หลายคนเป็นเพียงนักศึกษาที่เพียงต้องการหารายได้พิเศษมาจุนเจือครอบครัว และเป็นทุนการศึกษาให้ตนเอง บางรายร้านค้าของครอบครัวถูกปิดเพราะสถานการณ์โควิด-19 จึงนำบัญชีของครอบครัวมาใช้รับเงินจากการขายสินค้าให้เพื่อนในมหาวิทยาลัย ก็โดนเรียกเงินคืนไปด้วย

Related Posts

Send this to a friend