POLITICS

‘ณหทัย’ ห่วง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ‘ล็อกสเปคสมองคนไทย’

‘ณหทัย’ ห่วง พ.ร.บ. การศึกษาฯ ‘ล็อกสเปคสมองคนไทย’ เตือนรัฐบาล อย่าบังคับคนให้เป็นหุ่นยนต์ หวังเห็นทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้เอง-ไม่มีค่าใช้จ่าย

วันนี้ (12 ม.ค. 66) ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรค และประธานคณะทำงานด้านการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว The Reporters ที่อาคารรัฐสภา ถึงข้อกังวลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

ดร.ณหทัย มองข้อแตกต่างระหว่างร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ กับ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่เป็นฉบับเดิม อยู่ที่มาตรา 8 และมาตรา 47 เป็นสำคัญ โดยเฉพาะมาตรา 8 ที่ว่าด้วยการการแบ่งระดับชั้น ระดับช่วงอายุของการเรียนการสอนนั้นเป็นมาตราที่ “ล็อกสเปค” พัฒนาการของคนและสมองมากจนเกินไป เพราะคนแต่ละคนจะสามารถพัฒนาตนเองในช่วงเวลาและระดับความสามารถที่แตกต่างกัน การที่บัญญัติในกฎหมายว่าช่วงวัยนั้น ๆ ควรพัฒนาการในด้านใด หากทำไม่ได้จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ และใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

“ส่วนมาตรา 47 เป็นมาตราที่ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนชื่อของระบบการศึกษาไปโดยสิ้นเชิง จากเดิมคือการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาเพื่อคุณวุฒิตามระดับ เพื่อพัฒนาตนเอง และเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้น ทำให้เกิดความทับซ้อนกันเพราะการเรียนรู้ตลอดชีวิตคลอบคลุมทุกระบบการศึกษาอยู่แล้ว ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากในการทำความเข้าใจแก่ประชาชน”

ดร.ณหทัย กล่าวย้ำเพราะเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะเปลี่ยนชื่อระบบการศึกษา แต่ควรให้ความสนใจในส่วนของการจะทำอย่างไรให้การพัฒนาโรงเรียนมีเอกภาพ มีอิสระในการบริหารจัดการ และให้ครูมีงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนน้อยลง มีระบบประเมินวิทยฐานะจากความก้าวหน้าของนักเรียนในห้อง มากกว่าจากเอกสารรายงาน

นอกจากนี้ ดร.ณหทัย เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ยังทำให้การเรียนสายอาชีวศึกษาไม่ได้รับความสำคัญ ทั้งที่สายอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพ ที่ถือว่าเป็นการศึกษาที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะอาชีพเฉพาะทางต่าง ๆ ซึ่ง พ.ร.บ. การศึกษาฯ ฉบับนี้ควรให้ความสำคัญเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า มองจุดยืนของรัฐบาลต่อ พ.ร.บ. การศึกษาฯ ฉบับนี้อย่างไร ดร.ณหทัย ระบุว่าการปฏิรูปประเทศนั้นควรพัฒนาคนไปในแนวทางที่บุคคลมีความถนัด “ไม่สามารถไปบังคับให้คนเหมือนหุ่นยนต์” เพราะการศึกษาในโลกยุคต่อไป ควรเป็นการศึกษาที่คนสามารถเรียนรู้ได้เอง เรียนรู้ได้ทุกที่ และทุกคนสามารถเรียนรู้ได้เอง ไม่ควรบัญญัติว่าควรมีพัฒนาการแบบใด

ดร.ณหทัย ยังกล่าวอีกว่า อยากเห็นคนทุกคนได้เข้าถึงการเรียนรู้ รัฐบาลควรจะทำให้ทุกสามารถเข้าถึงได้จริง ๆ และไม่มีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาทั้งนักเรียนและครู การศึกษาในภายภาคหน้านั้นควรเป็นการประลองกันทางความคิดของนักเรียนและครู และที่สำคัญ ต้องไม่ให้การศึกษามา ล็อคสเปคสมองคนไทย

Related Posts

Send this to a friend