POLITICS

‘รอมฎอน’ ขอบคุณสภาฯ ตั้ง กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ตั้งกรอบทำงาน 90 วัน

‘รอมฎอน’ ขอบคุณสภาฯ ตั้ง กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ตั้งกรอบทำงาน 90 วันดันการพูดคุยสันติภาพ และควรใช้สภาเป็นพื้นที่กลางให้ทุกฝ่ายร่วมพูดคุยหาทางออก ขณะที่ สส.ก้าวไกลอภิปรายสนับสนุน ชี้ปัญหาการดำรงอยู่ของกฎหมายพิเศษเป็นชนวนขยายความขัดแย้ง

วันนี้ (11 ต.ค. 66) ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการอภิปรายเสนอญัตติ เพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตามและส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี โดยผู้เสนอคือ นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

นายรอมฎอนระบุว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่วันนี้มีผู้เสนอญัตติเข้ามาในลักษณะเดียวกันถึง 4 ญัตติจากทั้งพรรคประชาชาติ พรรคภูมิใจไทย และพรรคเพื่อไทย ซึ่งหากดูบันทึกการประชุมสภาในสมัยที่แล้ว ก็จะเห็นได้ว่ามีญัตติทำนองเดียวกันนี้ยื่นเข้ามาถึง 6 ญัตติด้วยกัน

นี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่เป็นที่รับรู้อย่างจำกัด ดำเนินการโดยฝ่ายนโยบายและฝ่ายความมั่นคงเป็นหลัก ทั้งที่สภาซึ่งเป็นพื้นที่กลางที่มีตัวแทนประชาชนจากทั้งประเทศควรจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยเหตุผล 3 ประการ กล่าวคือ

1) ต้องยอมรับว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องใหญ่ เกือบ 20 ปีที่ผ่านมามีผู้สูญเสียชีวิตกว่า 7 พันคน ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 5 แสนล้านบาท เมื่อความรุนแรงดำเนินมาอย่างยาวนาน ดูเหมือนเราจะชาชินกับสถานการณ์ความไม่สงบ แล้วปล่อยมือให้กับฝ่ายราชการ ข้อเท็จจริงชัดเจนมากขึ้นโดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร 2557 ที่มีการกีดกันไม่ให้สภาเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำ ตรวจสอบ และติดตามการดำเนินนโยบายเหล่านี้

ทั้งที่โดยเนื้อหาสาระของปัญหาแล้ว เรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับอำนาจอธิปไตยของไทย ความชอบธรรมในการปกครองเหนือดินแดน เชื่อมโยงไปถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา เป็นเรื่องที่ควรต้องใช้ฉันทามติที่มาจากการปรึกษาหารือในสภาแห่งนี้ในการหาทางออก

2) ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงหลายประเด็นและหลายมิติ ทั้งนโยบายการบริหารและการพัฒนา เกี่ยวโยงกับ 13 กระทรวง 45 หน่วยงาน อีกทั้งมิติภาระรับผิดชอบของฝ่ายนิติบัญญัติก็เหลื่อมซ้อนกันหลายกรรมาธิการ ทั้งด้านความมั่นคง ศาสนา สังคมพหุวัฒนธรรม การศึกษา การทหาร ตำรวจ หรือกระทั่งกรรมาธิการการปกครองและการต่างประเทศด้วย

3) สภาควรทำหน้าที่ได้มากกว่านี้ แม้การพูดคุยสันติภาพจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาที่ดำเนินควบคู่ไปกับมาตรการอื่น ๆ แต่ปัญหาหลักคือการจัดวางความสำคัญของการพูดคุยสันติภาพที่ดูเหมือนจะไม่ชัดเจนมากนัก รัฐสภาต้องช่วยสะท้อนให้เห็นว่าการสร้างสันติภาพมีจุดเน้นสำคัญอยู่ที่โต๊ะเจรจาและการแสวงหาข้อตกลง

ผลลัพธ์หนึ่งที่เป็นหลักสำคัญในกระบวนการสันติภาพ แต่เป็นที่รับรู้กันน้อยมากในสังคมไทย คือเอกสารข้อตกลงสองชุดที่เป็นผลมาจากการดำเนินการร่วมกันของหลายฝ่าย ทั้งรัฐบาลไทย และขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี แต่จนถึงบัดนี้กระบวนการเหล่านี้ดูเหมือนจะชะงัก และจำเป็นที่สภาจะต้องคอยกระตุ้นเตือนให้กระบวนการนี้เดินหน้าต่อไป

“ถ้ารัฐสภาแห่งนี้มีคณะกรรมาธิการที่เดินคู่ไปพร้อมกับการดำเนินนโยบายของฝ่ายบริหาร จะเป็นหลักประกันที่ให้ความมั่นใจต่อประชาชนในพื้นที่ รวมถึงผู้เห็นต่าง ในการบรรลุข้อตกลงและสร้างฉันทามติที่ทุกฝ่ายจะอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมไทยนี้ได้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีไปด้วยกัน” รอมฎอนกล่าว

นายรอมฎอน ยังกล่าวต่อไปว่า ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งสำหรับประชาชนในพื้นที่คือความปลอดภัยจากทั้งความรุนแรงและการได้แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งรัฐสภาแห่งนี้ควรจะเป็นพื้นที่สนทนาพูดคุย ขยายโอกาสในการสร้างสันติภาพ เน้นย้ำให้รัฐบาลมุ่งมั่นจริงจัง ตอบสนองต่อความปลอดภัย ความสงบ และสันติภาพอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้สภาวะที่ความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่

นายรอมฎอน ให้สัมภาษณ์ The Reporters เพิ่มเติมว่า ขอบคุณ สส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ที่สนับสนุนการตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรอบกว่า 10 ปี จึงคาดหวังว่าการทำงานของคณะกรรมาธิการ ทั้ง 35 คน ที่มาจากทุกพรรคการเมืองและผู้เชี่ยวชาญ จะทำให้การสร้างสันติภาพเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งคณะพูดคุย และการยกเลิกกฏหมายพิเศษ

ในส่วนของการอภิปรายโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้มี สส.พรรคก้าวไกลหลายรายร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติดังกล่าว เช่น น.ส.ชุติมา คชพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ ที่ชี้ให้เห็นถึงการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น สะท้อนผ่านผลิตภาพที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ แต่กลับขาดโอกาสในการพัฒนาจากการดำรงอยู่ของกฎหมายพิเศษในพื้นที่

ส่วน น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ สส.กรุงเทพฯ ได้ชี้ให้เห็นปัญหาความไม่เป็นธรรมที่ประชาชนได้รับจากการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขยายชนวนความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้น พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นถึงความสำคัญของกระบวนการแสวงหาความจริงและความยุติธรรม และการชดเชยผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความขัดแย้ง ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสันติภาพในประเทศต่าง ๆ ที่สามารถสร้างความปรองดองได้อย่างสัมฤทธิ์ผล

Related Posts

Send this to a friend