POLITICS

นักวิชาการชวน ปชช.โหวต ‘เห็นด้วยหรือไม่ที่ ส.ว. ควรเลือกนายกฯ ตามเสียง ส.ส.’

นักวิชาการชวนประชาชนโหวต ‘เห็นด้วยหรือไม่ที่ ส.ว. ควรโหวตเลือกนายกฯ ตามเสียงข้างมากของ ส.ส.’ 15-18 พ.ค. นี้ เรียกร้อง ส.ว. มีมติว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อผลการเลือกตั้ง ในการประชุม 23 พ.ค. เพื่อสร้างแสงสว่างให้ประชาธิปไตยไทย

วันนี้ (11 พ.ค. 66) เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชน ประกอบด้วย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว มหาวิทยาลัยบูรพา, ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผศ.ดร.ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเปิดตัวกิจกรรม “เปิดโหวตเสียงประชาชน ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่ ส.ว. ควรโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของ ส.ส.” ที่จะเปิดให้โหวตผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 เวลา 12:00 น. ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 เวลา 13:00 น. เพื่อส่งเสียงของประชาชนให้สมาชิกวุฒิสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จากฉันทามติที่มาจากผลการเลือกตั้งของประชาชน และวิพากษ์การทำงานของ กกต. ประเมินการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. นี้

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กล่าวว่า การตั้งข้อสงสัยในตัว กกต. ในการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา ถึงเรื่องบัตรเลือกตั้งที่มีแต่หมายเลข ทั้งที่งบประมาณได้มาเยอะ แต่กลับออกแบบบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับตน มากกว่าความสะดวกในการใช้สิทธิของประชาชน เพราะบัตรที่ไม่มีทั้งชื่อผู้สมัครและพรรค ถือเป็นวิกฤติความชอบธรรมของ กกต. ที่ประชาชนไม่เชื่อมั่น หากทำหน้าที่แบบไร้ประสิทธิภาพต่อไปอาจสร้างความโกลาหลให้กับสังคมได้ ฝากประชาชนช่วยจับตาการทำงานของ กกต. อย่างใกล้ชิด

“…เวลาที่เหลืออยู่ ตนยังมีความหวังให้ กกต. เปลี่ยนวิธีคิดและวิธีปฏิบัติในการเลือกตั้งเสียใหม่ สลัดจากบ่วงจากผู้แต่งตั้งตัวเองให้ได้ ปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ ยืนหยัดในหลักการที่ถูกต้อง ในการรักษาและสรรค์สร้างประชาธิปไตย…” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ธนพร ศรียางกูร เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ มีความดุเดือดน่าจับตาที่สุดตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 ทั้งเรื่องสถานการณ์การต่อสู้ในเขตเลือกตั้งตอนนี้หนักมาก ยิงปูพรมมากกว่าหนึ่งรอบ มีการยิงอย่างน้อยประมาณ 6 หมื่นเป้าหมาย รอบนี้น่าสนใจเพราะมีการยิงปูพรมหลายรอบ ซึ่งรอบที่ 2-3 รอบอาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้ อาจมีการล็อกเป้าด้วย การเมืองในสนามจริงมีรูปแบบเดิมควบคู่ไปกับโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากยิงกันดุเดือด ฝ่ายแพ้ก็จะดึงแต้มแจกกล้วยส่วนปัญหาคือฝ่ายที่รวมได้น้อยก็จะมีการแจกกล้วย ส.ว. ก็อาจจะหิวกล้วย เพราะไม่ใช่ว่าคนรวยจะไม่โกง มันจะเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย และรัฐสภาจะกลายเป็น Banana Politics ซึ่งสิ่งที่หยุดยั้งเรื่องนี้ได้คือความชอบธรรมจากเสียงประชาชน

รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว กล่าวว่า ประชาชนต้องการส่งเสียงถึง ส.ว. ว่าต้องเคารพเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งประชาชน อยากให้บ้านเมืองดีขึ้นกว่านี้แต่สิ่งที่ ประชาชนกังวลใจคือท่าทีของ ส.ว.ที่ไม่ชัดเจนและดูไม่เป็นมิตรกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองบางกลุ่ม ฉะนั้นเราจึงจัดโครงการนี้เพื่อสะท้อนความต้องการให้ ส.ว. เคารพเสียงประชาชน และในการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ ขอเรียกร้องให้ ส.ว. มีมติในวาระจรว่า จะมีท่าทีอย่างไรต่อผลการเลือกตั้ง เป็นมติ เป็นสัญญาประชาคมกับคนทั้งประเทศ หยุดสร้างความคลุมเครือ คลางแคลงใจให้ประชาชน เพิ่มแสงสว่างให้ประชาธิปไตย

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เผยว่า ตนหวังให้ประชาชนตื่นตัว จับตาการทำงานของ กกต. หวังว่าจะได้เห็นหลักฐานที่จับได้ว่ามีการพยายามบิดเจตนารมณ์ของประชาชนไป และจากการทำวิจัยเรื่องการเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่า การให้เงินจากผู้สมัครยังมีอยู่ แต่พฤติกรรมของประชาชนคือรับของทุกคน แต่จะเลือกอย่างที่อยากเลือก คนที่รับแล้วเลือกมีจำนวนน้อยมากจนแทบไม่มีผลอะไรแล้ว หากประชาชนพบเห็นการซื้อเสียง ขอให้ช่วยกันบันทึกเพื่อดำเนินการเอาผิดต่อไป สร้างบรรทัดฐานสังคมประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน

Related Posts

Send this to a friend