‘ชาญชัย’ ชี้ รัฐบาลปล่อยกู้ 2 มาตรฐาน ผิด พ.ร.บ.วินัยการเงิน การคลัง
‘ชาญชัย’ ชี้ รัฐบาลปล่อยกู้ 2 มาตรฐาน ผิด รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.วินัยการเงิน การคลัง พ่วงผิด ป.อาญา 157 รัฐเสียรายได้และภาษีของแผ่นดิน
วันนี้ (10 ส.ค. 67) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง ร่วมกันกระทำความผิดกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง และ พ.ร.บ.งบประมาณโดยการนำเงินของธนาคารออมสินมาปล่อยผ่านโครงการสินเชื่อ “IGNITE THAILAND” ว่า เรื่องนี้รัฐบาลใช้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง สองมาตรฐานโดยการทำผิดกฎหมายและทำให้รัฐเสียรายได้และภาษีของแผ่นดิน
เนื่องจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 อนุมัติเงินชดเชยเงินสูญเสียรายได้จำนวน 1,150 ล้านบาท ของโครงการดังกล่าววงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาทโดยให้ธนาคารออมสินและ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ทำโครงการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ในกลุ่มอุตสาหกรรมให้เข้าถึงแหล่งทุนวงเงินกู้ต่อรายสูงสุดสูงสุด 10 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 ต่อปีในปีที่ 1 และ 2 ระยะเวลาปล่อยกู้ไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน โดยออมสินทำโครงการนี้ที่รัฐบาลสั่งให้ทำ เป็นเหตุให้สูญเสียรายได้เป็นจำนวน 1,150 ล้านบาท รัฐบาลต้องจัดงบฯ ชดเชยให้ธนาคารออมสิน จึงมีมติ ครม. อนุมัติให้ธนาคารออมสิน และ บสย. จัดทำแผนขอรับเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นไปตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังมาตรา 28
นายชาญชัย กล่าวต่ออีกว่า ต่อมาวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 รัฐบาลโดยนายพิชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอเรื่องเข้า ครม. และ ครม. มีมติอนุมัติโครงการมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (โครงการสินเชื่อซอฟโลน) วงเงิน 100,000 ล้านบาทตามที่กระทรวงการคลังเสนอเข้า ครม. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 โดยให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้สนับสนุนธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ในวงเงิน 100,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.01% ต่อปี ระยะเวลากู้ 2 ปี มีธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวม 16 แห่ง รับไปปล่อยกู้ต่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.5 ต่อปี โดยมีเงื่อนไขปล่อยกู้รายรับไม่เกิน 40 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน ปรากฏว่าโครงการนี้ธนาคารพาณิชย์นำเงินไปปล่อยกู้ได้กำไร 3.49% ต่อปี รวมระยะเวลา 2 ปี แต่ทำให้ธนาคารออมสินขาดทุนทั้งต้นทุน ดอกเบี้ยเงินที่กู้มา และรายได้ในกรณีที่ปล่อยกู้เอง รวมยอด 4,580 ล้านบาท โดยส่วนต่างของกำไรนี้กลับต้องเฉลี่ยให้ธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมโครงการ ทั้งที่รายได้ของธนาคารออมสินจัดเป็นรายได้ของแผ่นดิน
อยากถามนายกฯ และรัฐมนตรีคลังว่า ทำไมจึงไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงิน มาตรา 27 กรณีการสูญเสียรายได้ของธนาคารออมสินว่า ต้องเสียรายได้ไปเท่าไหร่ และมาตรา 28 ที่ต้องแจ้งต่อที่ประชุม ครม. ถึงค่าใช้จ่าย แหล่งที่มา และเงินที่ต้องชดเชย แต่กลับอ้างว่า การดำเนินนโยบายนี้ ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพราะธนาคารออมสินไม่ขอรับการชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป 4.5 พันล้าน
”ถือเป็นการหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.วินัยการเงิน การคลัง ซึ่งหลังจาก ครม. มีมติอนุมัติโครงการสินเชื่อ ignite Thailand แล้วพบว่า ภาระหนี้ตามมาตรา 28 มีสัดส่วนอยู่ที่ 31.85% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ใกล้เพดาน 32% ที่กฎหมายการเงินการคลัง มาตรา 28 กำหนด ท่านจึงตัดงบฯ ที่ต้องชดเชยให้ธนาคารออมสินทิ้งไป เพื่อไม่ให้ยอดเกิน 32% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทั้งที่โครงการปล่อยกู้เงิน 5,000 ล้านบาท รัฐจัดเงินชดเชยรายได้ที่ออมสินเสียไปให้รวม 1,150 ล้านบาท แต่ในโครงการปล่อยกู้ซอฟต์โลนแสนล้าน ท่านกลับหลีกเลี่ยงสาระสำคัญของกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ทั้งที่ทำให้ธนาคารออมสิน หรือรัฐเสียหายกว่า 4.5 พันล้านบาท แสดงว่าท่านมีเจตนาเล็งเห็นผลชัดเจนในการกระทำผิดกฎหมายในเรื่องนี้ใช่หรือไม่ และทราบหรือไม่ว่า หากไม่ทำตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดให้ท่านทำได้ เท่ากับท่าน และบอร์ดธนาคารออมสิน จงใจ หรือทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 และ 142 แล้ว โดยต้องถูกถอดถอน พ้นจากตำแหน่ง และยังทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้น หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ทั้งนี้ ผมไม่ขัดข้องที่รัฐบาลออกมาตรการมาช่วยผู้ประกอบการ SMEs แต่การจะทำอะไรต้องคำนึงยึดหลักความถูกต้องตามกฎหมายเพื่อจะไม่สร้างปัญหาตามมาจนผลเป็นโมฆะ และเป็นตัวอย่างที่ผิด ๆ ต่อไปในอนาคต” นายชาญชัย กล่าว