POLITICS

‘ปวีณา’ หารือ ‘ปานปรีย์’ ช่วยเหยื่อค้ามนุษย์ในเมียนมา

‘ปวีณา’ หารือ ‘ปานปรีย์’ ช่วยเหยื่อค้ามนุษย์ในเมียนมา เสนอตั้งที่พักพิงในเมืองหลักทั่วโลก อธิบดีกงสุลฯ คาดมีเหยื่อคนไทยมากกว่า 162 คน ต้องรอเมียนมาพิสูจน์สัญชาติ ยืนยันไม่ใช่ตัวประกัน พร้อมรับผิดชอบค่าเดินทาง-รักษากรณีสาวไทยถูกจีนเทาหลอกค้าประเวณี

วันนี้ (8 พ.ย. 66) เวลา 10:00 น. นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี เข้าร่วมประชุมกับ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ณ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อยื่นเรื่องร้องเรียนจำนวน 3 เรื่อง และต่อมาเวลา 11:00 น. นางปวีณา พร้อมด้วย นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมกับสื่อมวลชน

เรื่องที่ 1 กรณีการช่วยเหลือสาวไทยที่ถูกหลอกไปบังคับค้าประเวณี และถูกหลอกเป็นเหยื่อขบวนการคอลเซ็นเตอร์ในเมืองเล้าก์ก่าย ประเทศเมียนมา นางปวีณา เปิดเผยว่า มีเหยื่อขอความช่วยเหลือมายังมูลนิธิปวีณาฯ ตั้งแต่ต้นปี 66 จำนวน 87 ราย แบ่งออกเป็นคอลเซ็นเตอร์ 62 ราย ถูกบังคับค้ามนุษย์ค้าประเวณี 25 ราย ซึ่งต่อมามูลนิธิปวีณาฯ ประสานให้อธิบดีกรมการกงสุล ให้การช่วยเหลือต่อเนื่อง

จากที่รัฐบาลเมียนมาได้ให้การช่วยเหลือเหยื่อคนไทย 162 รายนั้น ในวันนี้ มูลนิธิปวีณาฯ จึงประสานขอทราบรายชื่อเหยื่อที่ได้รับการช่วยเหลือครั้งนี้ เพื่อจะได้แจ้งญาติของเหยื่อที่ร้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิปวีณาฯ ให้ทราบว่า คนที่รักและลูกหลานจะได้กลับบ้านเมื่อใด ซึ่งหากใครที่ยังไม่มีรายชื่อได้กลับในครั้งนี้ มูลนิธิปวีณาฯ จะติดตามการช่วยเหลือต่อไป

เรื่องที่ 2 นางปวีณา เปิดเผยว่า นางสาวเอ (นามสมมติ) สาวไทยอายุ 31 ปี ร้องทุกข์ทางเพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี แจ้งว่าตอนนี้อยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองป๊อก ประเทศเมียนมา หลังจากถูกหลอกไปทำงานประชาสัมพันธ์ ผ่านทางเมืองเมียวดี แต่ถูกกลุ่มทุนจีนนำตัวไปที่เมืองป๊อก ประเทศเมียนมา เพื่อบังคับให้ค้าประเวณี ถ่ายคลิปโป๊เปลือยมีเพศสัมพันธ์ หากขัดขืนก็ถูกจับใส่กุญแจมือขังเดี่ยวอยู่ในห้อง ถูกซ้อมทำร้ายตบตี ไม่ให้กินข้าวกินน้ำ ต้องกินน้ำในห้องน้ำประทังชีวิต และถูกใช้ไม้แขวนที่เป็นสเตนเลสหนา ฟาดตามตัว แขน และขาจนเดินไม่ได้

นางปวีณา กล่าวต่อไปว่า หญิงสาวทนถูกทำร้ายไม่ไหวจึงทำทีว่าจะยอมทำทุกอย่าง นายจ้างคนจีนจึงยอมปล่อยให้ออกมาอยู่ห้องรวม ก่อนที่จะมีแม่บ้านชาวเมียนมาเห็นสภาพแล้วสงสารจึงให้เข้าไปหลบซ่อนในถังขยะแล้วเข็นรถพาหนีออกมาจากตึกได้ จากนั้นก็มีคนช่วยพาหญิงสาวพาส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล หญิงสาวอยากกลับบ้านที่เมืองไทย กลัวนายจ้างคนจีนจะมาพาตัวกลับไปค้าประเวณีและทำร้าย ไม่อยากเอาชีวิตมาทิ้งที่นี่ นางสาวเอจึงขอมูลนิธิปวีณาฯ ให้ช่วยพากลับบ้านด้วย นางปวีณา เปิดเผยว่า ได้ประสานอธิบดีกรมการกงสุล พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง เพื่อช่วยเหลือหญิงสาวแล้ว ซึ่งคาดว่าจะได้ออกจากโรงพยาบาลวันนี้

ทั้งนี้ ระหว่างการสัมภาษณ์ นางปวีณา ยังต่อสายสัมภาษณ์ นางสาวเอ ที่เป็นเหยื่อความรุนแรงในเมืองป๊อก โดยนางสาวเอ เปิดเผยว่า ได้ขอให้ทำใบรับรองการรักษาเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ซึ่งนางปวีณา ได้ให้คำมั่นกับนางสาวเอ ในการไปรับตัวที่ด่านท่าขี้เหล็ก อ.แม่สาย จ.เชียงราย

เรื่องที่ 3 นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ เจรจานอกรอบกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เกี่ยวกับกรณีสาวไทย 2 รายเหยื่อค้ามนุษย์ ถูกหลอกไปค้าประเวณีที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ติดตามจับกุมผู้กระทำผิดในประเทศไทยได้ส่วนหนึ่งแล้ว

นางปวีณา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้รองนายกรัฐมนตรีชัดเจนว่า ไม่ว่าใครทำงานไปทำงานที่ประเทศใด ไม่ว่าจะโดยสมัครใจหรือไม่ แต่ถ้ามีปัญหาต้องช่วยทุกคน จึงต้องขอขอบคุณ เพราะเราห่วงใยมาก บางครั้งเขาก็ไปด้วยความยากจน ไปถึงก็ถูกบังคับ จากการหลอกให้ทำงานประชาสัมพันธ์ ก็โดนบังคับให้ค้าประเวณี ขายตัว และถ่ายวิดีโอโป๊ด้วย ซึ่งส่วนตัวรับไม่ได้ ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ยังตอบรับที่จะนำประเด็นดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมเอกอัครราชทูตไทยทั่วโลก ในช่วงปลายเดือน พ.ย. นี้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ นางปวีณา จึงเสนอรองนายกรัฐมนตรี ให้มีที่พักพิงหรือเซฟต์เฮาส์ ในประเทศหลัก เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน และมาเลเซีย เพราะต้องทำให้พวกเขาเหล่านี้ปลอดภัยก่อน แล้วค่อยเข้าสู่กระบวนการแยกเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ทีหลัง

นอกจากนี้ นางปวีณา เปิดเผยว่า ยังประสานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อยู่ทุกวัน โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ก็ให้ความสำคัญตรงนี้ ฉะนั้น วันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่เราคุยกับรองนายกฯ ซึ่งมีนโยบายและวิสัยทัศน์ที่ดีในการช่วยผู้หญิงและผู้ตกทุกข์ได้ยาก

ด้านนายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับมอบหมายจากนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้มาเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศรับเรื่องร้องเรียนทั้ง 3 เรื่องไว้พิจารณาแล้ว

สำหรับเรื่องที่หนึ่ง นายรุจ กล่าวว่า เป็นเรื่องของเมืองป๊อก ทางตอนใต้ของเขตว้า ประเทศเมียนมา ซึ่งเจ้าหน้าที่กงสุล จากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง เคยคุยกับเหยื่อแล้ว ได้ประสานให้ตำรวจเมียนมาให้การช่วยเหลือ นำพาส่งกลับทางไทย ผ่านด่านท่าขี้เหล็ก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตและกรมการกงสุลยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ดังนั้น เหยื่อรายนี้จึงน่าจะกลับประเทศไทยได้ก่อน หลังจากรักษาตัวเสร็จ

ส่วนเรื่องที่สอง นายรุจ เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่า รายชื่อที่มูลนิธิฯ มอบให้นั้นเป็นส่วนหนึ่งใน 162 คนหรือไม่ เนื่องจากทราบแต่เพียงว่า มีรายชื่อคนไทยบางส่วนที่ทางการเมียนมาส่งให้ ซึ่งบางคนไม่มีหนังสือเดินทางเนื่องด้วยความฉุกละหุก ขณะนี้จึงอยู่ในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ

นายรุจ ชี้แจงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติว่า ขึ้นอยู่กับความพร้อมทางการเมียนมาว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด เนื่องจากเมืองเล่าก์ก่ายเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงค่อนข้างลำบาก รอบเมืองยังมีการต่อสู้กับชนกลุ่มน้อย ย้ำว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือจำแนกสัญชาติก่อน และคาดว่ามีคนไทยมากกว่า 162 คน แต่ไม่ทราบว่าเท่าใด เนื่องจากมีสัญชาติอื่นอีก ซึ่งจะพยายามพิสูจน์โดยเร็วที่สุด

นายรุจ กล่าวต่อไปว่า เหยื่อที่ได้รับการช่วยเหลือและปลอดภัยแล้วมีจำนวน 162 คน แต่บางกลุ่มอยู่ในโรงแรมหรือสถานบริการ ซึ่งจะประสานตำรวจเมียนมาให้ช่วยเข้าไปพาตัวออกมา โดยขึ้นอยู่กับความสมัครใจด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลคนไทยไม่ประสงค์กลับ และต้องรอสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม มีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศประจำการอยู่ ณ กรุงย่างกุ้ง ประสานงานกับอาสาสมัครชาวเมียนมาที่ทำงานมูลนิธิ เพื่อส่งอาหารและน้ำเข้าไปช่วยเหลืออยู่ พร้อมทั้งยืนยันว่า เหยื่อเหล่านี้ไม่ใช่ตัวประกัน

นายรุจ ยังกล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรี ยังเน้นย้ำในที่ประชุมให้ช่วยเหลือคนไทยทุกคนกลับประเทศไทย ตามนโยบายที่ให้มาแต่แรก และให้พยายามทำอย่างเต็มที่ที่จะช่วยเหลือคนไทย อย่างในกรณีอิสราเอล ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่เราได้รับมาในช่วงอพยพแรงงานไทย ซึ่งพยายามเต็มที่ เพียงแต่พื้นที่ในเมียนมาเป็นข้อจำกัดที่เข้าถึงลำบาก จึงต้องดำเนินการตามแนวทางที่รัฐบาลเมียนมาให้ความอนุเคราะห์

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ยังได้ประชาสัมพันธ์รณรงค์หลายครั้งมาหลายปีว่า ให้มีสติ อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพหลอกทำงานในเมียนมา และจะมีการแถลงข่าวความคืบหน้าในประเด็นดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ (9 พ.ย. 66)

Related Posts

Send this to a friend