นายกฯ ดูพื้นที่ท่าเรือทำโครงการแลนด์บริดจ์ครั้งแรก
ยัน รับฟังทุกความเห็นอย่างรอบด้าน ชี้ แลนด์บริดจ์คือ โอกาส อย่ากังวล ยกสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นโครงการใหญ่ที่ปัจจุบันสร้างรายได้มหาศาล
วันนี้ (22 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย – อันดามัน (โครงการLand Bridge ชุมพร – ระนอง) ณ อุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ โดยได้รับฟังรายงานจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มาลงพื้นที่บริเวณพื้นที่จะก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ และรับฟังผลของ สนข. ว่าภาพรวมในการถมที่ และระยะห่างจะออกไปเท่าไหร่ ร่องน้ำเป็นอย่างไร ซึ่งจากการนำเสนอ จะต้องมีการสร้างตอหม้อเป็นสะพานออกไป ทำให้เป็นที่ชัดเจนว่า พี่น้องประชาชนสามารถประกอบอาชีพทำประมงได้ ซึ่งก็เห็นถึงศักยภาพที่ทางคณะกรรมการแลนด์บริดจ์ ได้นำเสนอมา
ส่วนการทำความเข้าใจกับผู้ที่คัดค้านโครงการนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การทำโครงการใหญ่ ๆ เป็นธรรมดาที่จะมีคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ โดยบริเวณด้านหน้าก็มีคนมารอยื่นหนังสืออยู่
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตอนนี้โครงการเพิ่งเริ่ม อย่าเพิ่งทำเป็นเรื่องใหญ่ ขอรับรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนก่อน หากจำได้เมื่อ 20 ปี มีการทำโครงการเมกะโปรเจ็คขนาดใหญ่ระดับชาติ อย่างสนามบินสนามบินสุวรรณภูมิ ที่แต่ก่อนเรียกสนามบินหนองงูเห่า ในสมัยรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร และขณะนั้นนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยช่วงที่ผ่านมาประเทศไม่มีโครงการใหญ่เลย ซึ่งปัจจุบันเราได้รับประโยชน์จากการสร้างสนามบินดังกล่าวอย่างมหาศาล
ส่วนหากเกิดโครงการนี้ คนในพื้นที่จะได้ผลประโยชน์อย่างไรนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการเชื่อมต่อระหว่างทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ซึ่งจะเป็นการลดระยะทางขนถ่ายสินค้า ที่บริเวณช่องแคบมะละกา โดยปัจจุบันการขนถ่ายสินค้าบริเวณนั้นเริ่มหนาแน่น และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหลายครั้ง ดังนั้นการสร้างโครงการดังกล่าว เพื่อเชื่อมต่อส่งสินค้าไปทั่วโลกจึงเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นการจูงใจบริษัทต่างๆ ให้เข้ามาลงทุน สร้างแหล่งผลิตส่งออกทั้งรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ และหากไปดูในรายละเอียด การขนขนส่งสินค้าน้ำมันทั่วโลกกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ผ่านช่องแคบมะละกา ก็ถือเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ที่เราต้องผลักดันให้ประเทศมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน
สำหรับข้อกังวลของคนในพื้นที่ว่าอยากให้มีการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้านก่อน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แน่นอนว่าต้องศึกษาก่อน โดยในจุดถัดไปตนเองจะลงพื้นที่บ่อน้ำพุร้อน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รัฐบาลให้ความสำคัญ การสนับสนุนตรงนี้ ต้องควบคู่กับความเจริญในหลายมิติ โดยต้องทำควบคู่กันไป และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปด้วย และกรอบระยะเวลา ก็ต้องดูเสียงของพี่น้องประชาชนว่ามีมากน้อยขนาดไหน พร้อมกับยืนยันว่า ต้องเป็นที่เข้าใจของทุกฝ่าย
สำหรับความกังวลเรื่องการจ้างงาน หลังจากเกิดโครงการนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ไม่ต้องมีความกังวล ตนมองว่าเป็นเรื่องของโอกาสมากกว่า ท่าเรือที่สร้างเข้ามา ไม่ใช่แค่ขนถ่ายสินค้าอย่างเดียว แต่ยังมีเรือสำราญ ที่เข้ามาจอดได้ จึงถือเป็นโอกาสสำคัญ ให้กับคนพื้นที่จังหวัดระนอง และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งก็จะเป็นการทำควบคู่ไปในการพัฒนาพื้นที่ในเขตภาคใต้ทั้งหมด ทั้งสนามบิน นานาชาติอันดามัน ในพื้นที่ตอนเหนือ ของจังหวัดภูเก็ต ก็ล้วนเป็นการพัฒนาที่ควบคู่กันไป รัฐบาลเชื่อว่า จะเป็นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน
ส่วนความกังวลในเรื่องของความมั่นคงนั้น นายเศรษฐา ระบุว่า เวลาทำโครงการใหญ่ ๆ เราต้องดูแลพื้นที่ให้ครบทุกมิติ