‘เอ้ สุชัชวีร์’ ชี้ ปัญหา กทม.ต้องแก้ด้วยหลักวิศวกรรม และ เทคโนโลยี
วันนี้ (8 เม.ย. 65) ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงาน เสวนาผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กับการบริหารจัดการขยะ น้ำ อากาศ และเมืองยั่งยืน หัวข้อ “การจัดการน้ำเสีย และขยะในกรุงเทพมหานคร” จัดโดย เครือข่าย คณาจารย์นิสิตนักศึกษาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมประเทศไทย และ ภาควิชาวิศกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
หลังจากผู้ดำเนินการได้ให้ข้อเสนอ และได้ฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ เรื่อง ’การบำบัดน้ำเสีย และสาเหตุของน้ำเน่า’ แล้ว ‘เอ้ สุชัชวีร์’ ให้ตอบคำถามอย่างชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าวว่า
สาเหตุหลักของน้ำเน่า ไม่ใช่ขยะเป็นหลัก แต่เกิดจากการจัดการน้ำเสียส่วนหนึ่ง และการไหลเวียนของน้ำอีกส่วนหนึ่ง
จากการลงพื้นที่มาครบทั้ง 50 เขต พบว่าหลายคลองใน กทม. ปล่อยให้น้ำนิ่ง เมื่อน้ำนิ่งไม่เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน ประกอบกับมีการปล่อยน้ำเสียที่มีคราบน้ำมันเคลือบผิวน้ำ ทำให้น้ำไม่สามารถผันออกซิเจนได้ ทำให้น้ำเน่า และยิ่งปล่อยให้เน่าเสียเป็นเวลานานก็จะเกิดแก๊สและสารพิษ เป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้อยู่อาศัยรอบๆ คลอง
“เอ้ สุชัชวีร์” จึงได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาไว้ 2 ระยะ ดังนี้
ระยะเร่งด่วน ต้องแก้ให้น้ำมีการเคลื่อนไหว โดยคำนวนจากระดับน้ำขึ้น-น้ำลง และต้องมีระบบเปิด-ปิดประตูระบายน้ำอัตโนมัติ เพื่อผันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ลำคลอง และเมื่อน้ำลงก็ส่งน้ำจากคลองลงสู่ทะเล
ระยะยาว ต้องจัดการระบบการบำบัดน้ำเสีย เพราะปัญหาขณะนี้คือ หลายแห่งมีระบบบำบัดน้ำเสีย แต่ท่อส่งน้ำเสียจากครัวเรือนกลับส่งไปไม่ถึง และในหลายพื้นที่ หลายชุมชน มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองโดยตรง ดังนั้นจึงต้องจัดการให้น้ำเสียเหล่านี้ถูกส่งไปให้ถึงระบบบำบัด พร้อมกับจัดให้มีการบำบัดน้ำเสียในชุมชนด้วย
“เอ้ สุชัชวีร์” ย้ำว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ขณะนี้ไม่มีการสำรวจข้อมูลที่เป็นปัจจุบันของแม่น้ำ ลำคลอง และตนพบว่ามีคลองบางแห่งสูญหายไปแล้วจากการลักลอบถมที่ และคลองบางแห่งไม่มีชื่อ หรือแม้กระทั่งปริมาตรความจุของคลอง ทั้งลักษณะความกว้าง ความยาว ความลึก เมื่อเราไม่รู้สิ่งเหล่านี้ การจัดการน้ำในอนาคตจะทำได้ยาก ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยหลักวิศวกรรม จำเป็นต้องมีข้อมูล ไม่ใช่คิดเอาเองว่าควรจะเป็นอย่างไร เพราะการทำแบบนั้นทำให้แก้ปัญหาไม่ได้