POLITICS

‘ประธาน กกต.’ ยืนยัน ไม่ยื่นศาลตีความการคำนวณจำนวนราษฎร

‘ประธาน กกต.’ วาง 3 รูปแบบค่าใช้จ่ายผู้สมัคร ส.ส. ให้พรรคการเมืองพิจารณา ยืนยัน ไม่ยื่นศาลตีความการคำนวณจำนวนราษฎร

วันนี้ (8 ก.พ. 66) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จัดประชุมหารือกับพรรคการเมืองเพื่อเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานสำนักงานกรรมการการเลือกตั้ง (สนง.กกต.) เป็นประธานในการประชุม ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับการประชุมในช่วงเช้า ว่าเป็นการประชุมหารือตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายกำหนดให้หารือสองเรื่องด้วยกันคือ การกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ และการปิดประกาศหาเสียงเลือกตั้ง

นายอิทธิพรกล่าวว่า การกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ หากอยู่ครบวาระสำหรับ ส.ส. กำหนดตุ๊กตาไว้ที่ 6.5 ล้านบาท พรรคการเมือง 152 ล้านบาท หากมีการยุบสภาของ ส.ส. เป็นเงิน 1.74 ล้าน ของพรรคการเมือง 41 ล้านโดยประมาณ ซึ่งมีการออกความคิดเห็นที่หลากหลาย สสนง.กกต. จะทำหน้าที่ประมวลความเห็นและเสนอแนะต่อ กกต. เพื่อพิจารณาการกำหนดค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม เบื้องต้นมีทั้งพรรคที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ในส่วนของค่าใช้จ่ายของผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง กกต.ได้กำหนดไว้ รวม 3 รูปแบบคือ

รูปแบบที่ 1 กกต. เป็นผู้กำหนดโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอยู่ในข้อกฎหมายและปัจจัย 7 ประการ ก่อนจะส่งให้พรรคการเมืองพิจารณา

รูปแบบที่ 2 นำปัจจัยที่ กกต. พิจารณา ไปหารือกับสามหน่วยงานคือ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องของเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ

รูปแบบที่ 3 คือทั้งสามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คำนวณจากอัตตราเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว

ประเด็นต่อมาคือการปิดประกาศหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งได้หารือในเรื่องขนาดของป้าย สถานที่ จำนวนป้าย ควรจัดทำหรือไม่ เปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็มีการให้ความเห็นในเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงกรณีการวิจารณ์การแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีการนับรวมคนต่างด้าว นายอิทธิพรกล่าวว่า สำนักงานฯ และกกต. ได้ชี้แจง เกี่ยวกับการคำนวณประชาชนที่ใช้ในการคำนวณ ส.ส. ที่มีการนับรวมคนต่างด้าว ในข่าวประชาสัมพันธ์ ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์และ 7 กุมภาพันธ์ และเห็นว่า กกต. ได้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่เขียนไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญมาตรา 86 ที่กล่าวว่าในการกำหนดจำนวน ส.ส. และเขตเลือกตั้งให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศ และให้เป็นไปตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร์ ที่ประกาศโดยผู้อำนวยการทะเบียนกลาง ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทย อีกทั้งยังกล่าวอีกว่า ถ้อยคำที่ใช่ว่าให้เอาจำนวนราษฎรทั้งหมดมาใช้ในการกำหนดจำนวน ส.ส. เป็นถ้อยคำที่ใช้มาโดยตลอดในกฎหมาย และเห็นว่าสิ่งที่ทาง กกต. พิจารณานั้นเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย และไม่คิดที่จะยื่นเรื่องต่อศาลให้พิจารณาเรื่องของการตีความ

Related Posts

Send this to a friend