POLITICS

ก้าวหน้า-ก้าวไกล แท็คทีมร่วมรำลึก 45 ปี 6 ตุลา 19

จี้รัฐยุติความรุนแรงทั้งการปราบปราม-นิติสงคราม-เปิดพื้นที่พูดคุย

วันนี้ (6 ต.ค. 64) ที่ลานประติมากรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แกนนำพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า ร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 45 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 และวางพวงมาลารำลึกวีรชนผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ ร่วมกับญาติวีรชน คนเดือนตุลา ภาคประชาสังคม นักเรียน นิสิต นักศึกษา และตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน อาจสรุปได้ว่าเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็น 6 ตุลา, พฤษภา 35, เมษา-พฤษภา 53 มาจนถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ล้วนแต่มีรากเหง้าของปัญหาเดียวกันที่ไม่เคยได้รับการชำระ นั่นคือความรุนแรงของรัฐ ที่เข้าปราบปรามคนเห็นต่าง ไม่อนุญาตให้คนที่มีความคิดแตกต่างได้ดำรงอยู่ในสังคม และวัฒนธรรมการพ้นผิดลอยนวล ที่วันนี้ยังไม่มีผู้ต้องรับผิดต่อ 41 ชีวิตที่ต้องสูญเสียไปในวันนั้น

มาจนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ยังคงมีเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ได้รับความรุนแรงทั้งจากการปราบปรามบนท้องถนนและการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ มีเยาวชนที่โดนคดีมาตรา 112 ถึง 148 คน และมีผู้ถูกดำเนินคดีความทางการเมืองสำหรับคนเห็นต่าง 2 พันกว่าคดี

วันนี้รัฐไทยยังไม่คิดที่จะฟังเสียงของประชาชน ไม่คิดที่จะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่รับฟังความฝันของคนรุ่นใหม่ ไม่รับฟังความต้องการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ไม่ประนีประนอม พร้อมใช้ความรุนแรงกับประชาชน

นายพิธากล่าวต่อไป ว่าพรรคก้าวไกลมีข้อเสนอ นั่นคือรัฐต้องยุติความรุนแรงกับประชาชนและนิติสงครามโดยทันที พฤติกรรมของรัฐในวันนี้สะท้อนถึงความแข็งตัวของรัฐ ยิ่งใช้ความรุนแรงเข้าสู้กับอนาคตของชาติ การชุมนุมแต่ละครั้งยิ่งจะปะทุรุนแรงมากขึ้น การใช้คดีความเข้าปราบปรามประชาชนก็ไม่ได้ทำให้ผลลัพธ์เปลี่ยนแปลงไป

“เราจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัย ให้คนรุ่นใหม่ได้พูดความจริงแห่งยุคสมัย เปิดให้มีการประนีประนอมระหว่างกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกอย่างต้องแก้ด้วยกระบวนการทางการเมือง ยอมรับความเห็นต่างให้เป็นเรื่องปกติ มีแต่ทำเช่นนี้เท่านั้น ผลลัพธ์ความขัดแย้งทางการเมือง 45 ปีที่ผ่านมาจึงจะถูกชำระและเดินหน้าต่อไปได้” นายพิธากล่าว

นายธนาธร ระบุว่าในวันนี้เรามารำลึกถึงอดีต ไม่ใช่เพียงเพื่ออดีตเท่านั้น แต่เรายังต้องการส่งเสียงว่าเราต้องการเห็นอนาคตแบบไหน นั่นคืออนาคตที่คนในสังคมอยู่ด้วยกันอย่างโอบอ้อมอารี ความเห็นต่างได้รับการยอมรับ มีแต่อนาคตแบบนี้เท่านั้น ที่ประทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ การรำลึก 6 ตุลาของเรา ไม่ใช่การรำลึกแต่เพียงอดีตและคุณูปการของคนเดือนตุลา แต่เรามาป่าวประกาศ ว่าสังคมไทยที่เราอยากสร้างไปด้วยกันจะเป็นเช่นไรด้วย

Related Posts

Send this to a friend