POLITICS

‘พิธา’ มองรัฐบาลตั้งทีมเฉพาะกิจแก้พลังงาน ช้ากว่าชาติอื่น 6 เดือน

วันนี้ (5 ก.ค. 65) ณ อาคารรัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาวิกฤตพลังงานของรัฐบาล ภายหลังจากเมื่อวานนี้ (4 ก.ค. 65) ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีการตั้งคณะทำงานขึ้น 2 ชุด ได้แก่ ชุดแรก คณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่คล้ายคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฝ่ายเศรษฐกิจ ที่นำหน่วยงานด้านเศรษฐกิจมาประชุมหารือกัน และชุดที่สองคือ คณะกรรมการเฉพาะกิจติดตามประมวลผลวิเคราะห์ผลกระทบและจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาทุกมิติ และจัดทำแผนรองรับทุกด้านตามวิกฤตการณ์ในอนาคต

นายพิธา กล่าวว่า การดำเนินการของรัฐบาลเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน เพราะว่าดำเนินการช้าเกินไปและมีความซ้ำซ้อน ยกเหตุการณ์ 2 สัปดาห์ก่อนนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ดำเนินการจัดทำแผนรับมือวิกฤตพลังงาน และวิกฤตอาหาร แต่จากนั้น 2 สัปดาห์ถัดมา สมช. ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก จึงคาดว่าหากเป็นเช่นนี้ ก็คงจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มเติมอีกเรื่อยๆ เปรียบเหมือนพายเรือวนอยู่ในอ่าง ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ โดยเห็นว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นควรจะตั้งทีมเฉพาะกิจตั้งแต่แรก แม้จะเห็นด้วยกับการตั้งทีมเฉพาะกิจ แต่ควรจะตั้งมาตั้งแต่ 6 เดือนที่แล้วเหมือนประเทศอื่น

นายพิธา ยังเน้นย้ำว่า ขณะที่สถานการณ์กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แข่งขันกับการขึ้นดอกเบี้ยและเงินเฟ้อของแต่ละประเทศ ก็ควรจะคิดได้แล้ว แต่มาแต่งตั้งคณะกรรมการในช่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของประชาชนได้ และถือเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังที่มีการตั้งคณะกรรมการอย่างเดียว เปรียบมีแต่น้ำไม่มีเนื้อ

นายพิธา ยังยกตัวอย่างด้วยว่า นายกรัฐมนตรีไทยเพียงแต่กล่าวย้ำขอความร่วมมือในการประหยัดพลังงาน ขณะที่นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นสร้างระบบจูงใจให้ประชาชนประหยัดพลังงาน พร้อมยกตัวอย่างหากตัวเองจะแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องแยกกลุ่มและลงรายละเอียด เช่น ดีเซลที่มีการใช้เชื้อเพลิง 12 ล้านคันมีทั้งภาคขนส่ง ภาคการเกษตร ภาคคมนาคม และรถส่วนบุคคลอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีมาตรการรองรับปัญหาทั้ง 4 ชุด

นายพิธา กล่าวว่า การแก้วิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ได้ต้องรวดเร็ว แต่การแต่งตั้ง สมช. กับข้าราชการ ทำให้ต้องแข่งกับความเร็ว กลายเป็นความช้าคลุมเครือซ้ำซ้อน แทนที่จะได้รีบตัดสินใจด้วยตัวนายกรัฐมนตรี หรือทีมเศรษฐกิจเอง

Related Posts

Send this to a friend