POLITICS

รัฐบาลกระตุ้นท่องเที่ยว สร้างซิปไลน์แลนด์มาร์กใหม่ที่ภูแอ่น

ชาวหนองบัวลำภูเตรียมเฮ รัฐบาลกระตุ้นท่องเที่ยว สร้างซิปไลน์แลนด์มาร์กใหม่ที่ภูแอ่น ตั้งศูนย์ออกแบบผ้าขิดหมี่ลายบัวลุ่มภู ยกระดับทอผ้าพื้นเมือง ดีเดย์เปลี่ยน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดที่ดิน 15 ม.ค.นี้

วันนี้ (4 ธ.ค. 66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 ที่จังหวัดหนองบัวลำภูว่า จากรายได้ GDP ต่อหัวที่ต่ำที่สุดของจังหวัดหนองบัวลำภู รัฐบาลจะเน้นเพิ่มรายได้ผ่านการเกษตรและการท่องเที่ยว ทั้งนี้ประชาชนต้องมีความปลอดภัยในชีวิตด้วย โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหายาเสพติด

ชาวหนองบัวลำภูมีแหล่องท่องเที่ยวที่เรียกว่าภูแอ่น ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเก้าภูพานคำ ปัจจุบันมีสกายวอล์คอยู่แล้ว โดยรัฐบาลจะเติมเสน่ห์ให้ใส่เครื่องเล่นซิปไลน์ 1,100 กว่าเมตร เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว พร้อมเชื่อมโยงระบบคมนาคมในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (หนองบัวลำภู บึงกาฬ เลย หนองคาย และอุดรธานี) เข้าด้วยกัน จังหวัดหนองบัวลำภูต้องไม่ถูกลืม พร้อมสร้างถนนเลี่ยงเมืองจากเลย-หนองบัวลำภูที่อำเภอนากกลาง เพื่อลดอุบัติเหตุทางท้องถนน ทั้งนี้หนองบัวลำภูโดดเด่นเรื่องผ้าทอพื้นเมือง โดยเฉพาะผ้าขิดสลับหมี่ลายบัวลุ่มภู รัฐบาลจะส่งเสริมให้เกิดศูนย์ออกแบบเรียนรู้พัฒนาต่อยอดผ้าขิดสลับหมี่ขึ้นอีก 4 ศูนย์ จากเดิมมีเพียง 3 ศูนย์ เพื่อยกระดับการทอผ้าพื้นเมือง

ขณะที่ภาคการเกษตร ต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้ 1.5 แสนไร่ บรรเทาหรือบรรเทาหรือขจัดปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมซ้ำซาก ผ่านโครงการสร้างฝายที่บ้านนาไร่ ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา เพื่อให้มีน้ำเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง ลำน้ำต่าง ๆ ที่เป็นลำน้ำขนาดเล็กทั่วจังหวัดทั้ง 6 อำเภอจะสร้างฝาย 92 แห่งทันที เพื่อเป็นฝายกักเก็บน้ำ น้ำจะได้ไม่แล้งเร็ว นอกจากนี้ยังจะสนับสนุนอุปกรณ์ชลประทาน เกี่ยวกับการบังคับน้ำ และระบายน้ำที่ลำพะเนียง ทำให้ชาวหนองบัวลำภูมีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทางการเกษตร โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 1,000 ล้านบาท

นายชัย ยังกล่าวถึงเรื่องที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูมีทั้งหมด 950,000 ไร่ โดยวันที่ 15 ธ.ค.นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาอนุญาตให้เปลี่ยนเอกสารจาก ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตรสามารถซื้อขาย หรือใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันมีที่ดิน ส.ป.ก.4-01 อยู่ 22 ล้านไร่ มีประชาชนถือครอง 1.6 แสนราย โดยรัฐบาลจะแจกโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรกในวันที่ 15 ม.ค.67

Related Posts

Send this to a friend