POLITICS

‘กป.อพช.’ ยื่นหนังสือถึงประธานสภาฯ กล้าหาญ เคารพเสียงประชาชน

‘กป.อพช.’ ยื่นหนังสือถึง ‘วันนอร์’ ขอให้ประธานสภาฯ กล้าหาญ เคารพเสียงประชาชน เรียกร้อง สส.-สว. ทำหน้าที่ไร้อคติ และการชี้นำทางการเมือง

วันนี้ (27 ก.ค. 66) นายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เรื่องประธานรัฐสภาต้องกล้าหาญ เที่ยงตรง เคารพเสียงประชาชนและเคารพรัฐธรรมนูญ กรณีการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีนายเจษ อนุกูลโภคารัตน์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนรับหนังสือ

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่สามารถเลือกนายกรัฐมตรีได้ในขณะนี้ กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ และอาจจะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ที่จะทำให้ระบบประชาธิปไตยของประเทศต้องสะดุดลงอีกครั้ง การใช้กลไกของรัฐสภาเป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งจะต้องอาศัยความกล้าหาญ และความเที่ยงตรง ในการทำหน้าที่ประธานรัฐสภาเป็นที่ตั้ง โดยยึดหลักรัฐธรรมนูญ และฉันทามติของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องไม่ปล่อยให้เหตุการณ์พวกมากลากไป ดังที่เกิดขึ้นในการประชุมเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา อันเป็นเพราะความไม่ชัดเจน และไม่กล้าวินิจฉัยต่อข้อถกเถียงที่ว่าด้วยการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 กำหนดไว้ หากแต่ปล่อยให้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภามีสถานะเหนือกว่า จนทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งในแวดวงนักกฏหมาย และสังคมทั่วไป

กป.อพช.มีความเห็นว่าการทำหน้าที่ของ สส.และ สว. อันเป็นองค์ประชุมร่วมในรัฐสภา จะเป็นหนทางเดียว ที่จะแก้ไขปัญหาการเมืองที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ได้ และจะต้องเป็นการทำหน้าที่ในฐานะ “ผู้แทนปวงชนชาวไทย ที่ต้องไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ ทั้งต้องปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์” ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วในมาตรา 114 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ท่านทั้งหลายจะต้องตระหนักต่อการทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนประชาชน ที่จะต้องไม่ปฏิเสธฉันทามติของประชาชนจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 66

กป.อพช. จึงขอเรียกร้องผ่านมายังประธานรัฐสภา เพื่อสื่อสารและตอกย้ำไปยัง สส. และ สว.ให้ทำหน้าที่อย่างไร้อคติ และไร้การชี้นำทางการเมืองจากอำนาจอื่นใด และจงใช้กลไกของระบอบประชาธิไตยเป็นทางออก ก่อนที่อำนาจนอกระบบจะเข้ามาแทนที่

นายสมบูรณ์ แสดงความเห็นถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ที่ผ่านมาสองเดือนแล้วแต่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ว่า การไม่ยอมรับฉันทามติประชาชนเป็นที่ไม่ควรอย่างยิ่ง วันนี้เรื่องมาตรา 112 ถือเป็นกำแพงใหญ่ที่พรรคการเมืองอ้างว่าไม่สามารถยอมรับได้ แม้พรรคก้าวการพยายามอธิบายในที่สาธารณะว่า การนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาคือการหาทางออกให้กับสังคม พร้อมตั้งคำถามว่าถ้าพื้นที่รัฐสภาไม่สามารถถกเถียงเรื่องนี้ได้ จะมีรัฐสภาไว้ทำไม

อย่างไรก็ตามแม้จะอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ แต่ปัญหาชาวบ้านยังคงดำเนินต่อไป เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนองที่ดำเนินการทำประชาพิจารณ์ เรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนเป็นช่องว่างที่น่ากังวล ปัญหาปากท้องชาวบ้านและเศรษฐกิจที่ไม่สามารถขยับอะไรได้ พรรคการเมืองทุกภาคเห็นปัญหานี้ แต่มีพรรคการเมืองและ สว.เป็นตัวขัดขวางไม่ให้เดินไปข้างหน้า

“เราต้องไม่โทษนโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะถูกตอบรับหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่อย่านำมาเป็นข้ออ้าง เพราะจะนำไปสู่จุดอับทางการเมืองที่ไปต่อได้ยาก”

Related Posts

Send this to a friend