POLITICS

‘รอมฎอน‘ ซัด นายกฯ ไม่มุ่งมั่น แน่วแน่ แก้ปัญหาความขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนใต้

‘รอมฎอน‘ ซัด นายกฯ ไม่มุ่งมั่น แน่วแน่ แก้ปัญหาความขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนใต้ ตั้ง 3 สมมติฐาน ไม่กล้าแก้ เพราะกลัวเหยียบเท้าใคร แต่ขอบคุณรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์’ ริเริ่มเจรจาสันติภาพ

วันนี้ (4 เม.ย. 67) ที่อาคารรัฐสภา นายรอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 แบบไม่ลงมติ ว่า ตนเองขอเน้นหนักไปที่การดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้ ภายใต้หัวข้อ “สันติภาพเปราะบาง นิติธรรมปวกเปียก และภาวะการนำบกพร่องของนายกฯ เศรษฐา” โดยรัฐบาลนี้เข้ามาทำงานในช่วงที่ปัญหานี้สุกงอม หากเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา จะเป็นวันครบรอบ 20 ปีสำหรับปัญหาไฟใต้ โดยไม่มีวี่แววว่าจะยุติ

นายรอมฎอน กล่าวว่า การทำงาน 6 – 7 เดือนที่ผ่านมาของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดนี้ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าประเทศไทยกำลังสูญเสียโอกาสครั้งสำคัญ ในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ หรือปาตานี เมื่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากพลเรือนชุดนี้ไม่มุ่งมั่น แน่วแน่ ไม่มั่นคงมากพอที่จะยุติความรุนแรง และสร้างสันติภาพ ด้วยแนวทางทางการเมือง ตอนนี้สัญญาณความรุนแรงกลับมาแล้ว ใน 2 – 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการก่อเหตุหลาย 10 จุด ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งไปสู่เป้าหมายทางเศรษฐกิจ มีความหมายเชื่อมโยงถึงเหตุการณ์รำลึกในเดือนรอมฎอน เหตุการณ์ตากใบ หากเรายังไม่มีพื้นที่ในการสื่อสาร พื้นที่ทางการเมืองที่มากพอ สัญญาณแบบนี้จะเป็นสัญญาณเตือนว่าสังคมไทยต้องตั้งคำถามว่ากระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่ประสบปัญหาหรือไม่ อย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม ตนเองจะไม่นำเรื่องความรุนแรงมาโทษท่าน แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้น คำแถลงเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ระบุถึงหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง โดยเกี่ยวข้องกับประชาชนหลายคน และเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายความอยู่ของคนในพื้นที่ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท

นายรอมฎอน อภิปรายว่า ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ การลงพื้นที่ชายแดนใต้ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งตอนแรกเข้าใจว่าตั้งใจเลือกวันนั้นเพื่อย้อนไปถึงนัยทางการเมืองพูดไปถึงมรดกตกทอดที่น่าชื่นชมของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการลงนามระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยและ BRN ในการพูดคุยสันติภาพ แต่จริง ๆ แล้วท่านไม่ได้ตั้งใจพูดถึงเรื่องนั้น นำไปสู่ประเด็นที่สอง เมื่อนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ด่านหาย แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีกลับไป มีการนำด่านกลับมา เป็นเรื่องตลกขบขันที่ขมขื่นของคนในจังหวัดชายแดนใต้ สะท้อนว่าการท่องเที่ยวในพื้นที่มีอุปสรรคขวางอยู่ โดยมีกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง และมีเจ้าหน้าที่ติดอาวุธอยู่ ตนเองเห็นด้วยกับการหาโอกาส แต่ต้องไม่ลืม และต้องมองเห็นว่าเงื่อนไขของพื้นที่เป็นอย่างไร เราอยู่ภายใต้มาตรการควบคุม สอดส่อง ดูแล แทรกแซงชีวิตพลเมืองประชาชนโดยตลอด ไม่ใช่แค่ด่านขวางถนน แต่เป็นสัญลักษณ์ของวิธีคิดแบบทหารที่ครอบงำชีวิตประจำวันของประชาชนเช่นเดียวกัน โดยมีด่าน 2000 กว่าจุดในพื้นที่

ต่อมาการไม่พูดเรื่องความยุติธรรม และสันติภาพในการลงพื้นที่ครั้งนั้น ก็จงใจไม่พูดถึงปัญหาเรื่องความทะเลาะเบาะแว้ง ท่านบอกให้เราลืมอดีต และเหตุการณ์ต่า งๆ ที่เกิดขึ้น เพราะจะเข้าสู่เดือนรอมฎอนแล้ว ต้องมีความอดทน ก็ขอให้เป็นการยกโทษให้กันและกัน และเดินหน้าต่อไป จึงเกิดการตั้งคำถามว่าจะให้ลืมอดีตอะไร และเรียกร้องให้ประชาชนไว้วางใจรัฐบาล โดยที่ไม่รู้ว่าเราต้องยกโทษให้ใคร เพื่ออะไร

การต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินของรัฐบาลชุดนี้น่าสนใจมาก เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะต่อหรือไม่ต่อ จะจัดการความขัดแย้งอย่างไร ประดักประเดิด เก้ ๆ กัง ๆ และไม่แตะกฎอัยการศึกเลย เรายังอยู่ในช่วงที่สำคัญที่สุดคือจะครบรอบเหตุการณ์ตากใบในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ และอายุความใกล้หมด มีความพยายามให้รื้อฟื้นคดีขึ้นมา ทวงถามในคณะกรรมาธิการกฎหมายหลายครั้ง จนกระทั่งทราบว่าสำนวนคดีหายไป และเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการมาชี้แจงว่า สำนวนเหล่านั้นงดให้มีการสอบสวน โดยล่าสุดวันที่ 25 มกราคมนี้ ก็ฟื้นขึ้นมาอีกรอบ โดยคดีนี้เงียบมาก ไม่แน่ใจว่านายกรัฐมนตรีทราบหรือไม่ และไม่แน่ใจว่าการเจอกับนายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซีย ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้หรือไม่

นายรอมฎอน กล่าวต่อว่า การใช้นิติสงครามยังถูกดำเนินการอยู่ โดยในช่วง 1 – 2 เดือนที่ผ่านมา มีการเรียกดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่รวมตัวกันแต่งชุดมลายู โดยผู้ที่ดำเนินคดีอยู่ภายใต้การกำกับการของนายกรัฐมนตรี โดยท่านนายกทราบหรือไม่ว่าลูกน้องของท่าน ไปแจ้งความปิดปากคนไปทั่วในจังหวัดชายแดนใต้ บ่อนทำลายกระบวนการสันติภาพด้วยตัวมันเอง ตกลงจะให้พี่น้องสะท้อนเสียงผ่านกระบวนการรับฟังสาธารณะ แต่ในขณะเดียวกันก็ฟ้องปิดปากด้วย สรุปจะเอาอย่างไร

“เรื่องที่ยากที่สุดคือการหาจุดลงตัวให้ได้ว่าจะมีการแสวงหาทางออกทางการเมืองที่สอดรับกับเจตจำนงของประชาคมปาตานีภายใต้รัฐเดี่ยวของประเทศไทยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญอย่างไร” นายรอมฎอน กล่าว

ประเด็นสุดท้าย จึงเห็นว่านายกฯ เศรษฐา มีภาวะการนำบกพร่อง โดยตนเองคาดหวังต่อท่านว่าต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง มีเจตจำนงหนักแน่น ท้าทาย เพราะเมื่อเกิดความขัดแย้ง เรามีทิศทาง หรือมีกติกาบางอย่าง แต่ในสังคมยิ่งขัดแย้งแตกต่าง ถ้าไม่มีผู้นำที่เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ เราจะแก้ไม่ได้ ตนเองพยายามทำความเข้าใจว่าที่ไม่มีความชัดเจนเพราะอะไรกันแน่ โดยตนเองได้ตั้งสมมุติฐานสามแนวทางได้แก่

1.นายกฯ เศรษฐาเชื่อว่าการกระตุ้นแนวทางทางเศรษฐกิจ จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างการเมือง และความขัดแย้งทางการเมืองจะไม่สำคัญอีก ท่านเชื่ออย่างนั้น และไร้เดียงสาจริง ๆ โดยทฤษฎีแบบนี้มีทั่วโลก แต่ในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านมา 20 ปีแล้ว เรารู้ว่าเป็นเรื่องการเมือง ประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่เราเห็นแย้งแตกต่าง เป็นสิ่งที่เราต้องการความยุติธรรมในคนละแบบ คนละความหมาย ความปลอดภัยคนละแบบ เราขัดแย้งกันเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เมื่อท้องอิ่มกระเป๋ามีเงินแล้วทุกอย่างจะจบ โดยวิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดที่คล้ายกับรัฐบาลในอดีต โดยเฉพาะในรัฐบาลทักษิณ ที่เชื่อว่าเรื่องนี้จัดการง่ายมาก แค่พัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นรัฐบาลที่แข็งกร้าว ก็จะจัดการได้ง่ายมาก ซึ่งผลลัพธ์ก็ออกมาในภาวะลืมไม่ได้ จำไม่ลง ทั้งเหตุการณ์หกตุลา และเหตุการณ์ตากใบ ตนเองมั่นใจว่ารัฐมนตรีในคณะของท่านต้องคุ้นเคยกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้แล้วตนเองคาดหวังว่าท่านน่าจะไปไกลกว่าขอบเขตมีเงินในกระเป๋า และแก้ปัญหาทุกอย่างได้ หากคิดแค่นี้ มันผิวเผิน

2.นายกฯ เศรษฐาทราบดีว่าการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่จงใจไม่เข้าไปแทรกแซงปัญหาความมั่นคง และกระบวนการสันติภาพ ปล่อยให้บทบาทเหล่านี้ตกอยู่ในมือของข้าราชการประจำ โดยเฉพาะกองทัพ กอ.รมน. หรือนี่เป็นดีลอะไรบางอย่างหรือไม่ จงใจขีดเส้นว่าเรื่องแบบนี้ท่านไม่สน ไม่ถือสา เขตทหารท่านจะไม่เข้า

3.นายกฯ เศรษฐาและ พลพรรคไม่ได้ไร้เดียงสาเหมือนแนวทางแรก และไม่ได้จงใจเหมือนแนวทางที่สอง แต่ได้ข้อสรุปจากบทเรียนในอดีตว่าการเข้าไปกำหนด และกำกับทิศทางการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศชาตินี้ อย่างกรณีชายแดนใต้ จะนำมาซึ่งหายนะอย่างที่เคยเกิดขึ้นจากในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และในรัฐบาลทักษิณ เป็นบทเรียนที่คำนวณใคร่ครวญแล้วว่าไม่ควรไปยุ่ง ไม่ควรไปแตะ เป็นการตัดสินใจ และเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงความมั่นคงอย่างจงใจ

ระหว่างนั้น ทพย.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นประท้วงนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่หนึ่ง ในฐานะประธานในที่ประชุมในข้อบังคับข้อที่ 9 ว่า ผู้อภิปราย มีการอภิปรายใส่ร้าย เนื่องจากสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการเยียวยา ถือว่าเป็นครั้งแรก ที่ทำให้ความรุนแรงของภาคใต้ลดลงน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ หากบิดเบือนแบบนี้แล้วจำในสิ่งที่ผิด ตนเองคิดว่าควรลืมอดีตบ้าง

นายรอมฎอน จึงอภิปรายต่อว่า ตนเองต้องบอกว่าคุณูปการของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ คือการริเริ่มความกล้าหาญทางการเมือง ที่เริ่มการพูดคุยสันติภาพ และเปิดเผยต่อสาธารณะทำให้คนในพื้นที่ คนในประเทศ เห็นว่าวิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแบบสันติวิธี เราเก็บรับมรดกตกทอดของความพยายามเพื่อสันติภาพนั้นมาจนถึงปัจจุบัน แต่ด้วยเหตุนี้รัฐบาลเศรษฐา อาจรู้สึกว่าพอทำอย่างนั้น อาจเจอรัฐประหาร เลยเหยียบเท้าใครไป จึงคำนวณอย่างมั่นอกมั่นใจว่า จะไม่แตะแล้ว น่าเสียดายทั้ง ๆ ในบริบทจังหวะเวลาแบบนี้ ความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพแบบนี้ เราต้องการผู้นำพลเรือนที่แข็งแกร่ง เพราะ 3 สมมุติฐานพวกนี้มีจุดร่วมเดียวกัน คือการเซ็นเช็คเปล่าให้กองทัพ ให้คนถือปืนเข้ามายุ่งในกิจการทางการเมืองสำคัญของประเทศ ปล่อยให้ชะตากรรมของประชาชนในชายแดนใต้ ตกอยู่ภายใต้มาตรการทางการเมืองที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ อ้างภัยคุกคามด้านความมั่นคง มาตรการเหล่านี้สร้างความแข็งแกร่งให้กับกองทัพ ทำลายความสามารถของภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ทำให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดแข็งแกร่งขึ้น

“ความบกพร่องนี้เกรงว่าความรุนแรงจะกลับมาอีกครั้ง ผมขอเตือนนายกรัฐมนตรี และผู้ที่มีอำนาจในฝ่ายบริหาร ถ้าท่านไม่ยืนกราน ยืนหยัด แข็งแกร่งมากขึ้นกว่านี้ เกรงว่าสิ่งที่เราจะเจอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะเลวร้ายเหมือนตอนที่เราหลงผิด หลงประเมินผิดไปในช่วงก่อนปี 2547 ความรุนแรงอาจกลับมา ถ้าเราไม่หนักแน่นพอ หากท่านมุ่งมั่นเดินหน้าไปสู่ดารสร้างสันติภาพ จำกัดบทบาทของกองทัพอย่างจริงจัง เชื่อว่าพรรคฝ่ายค้านอย่างพวกเราพร้อมจะเดินหน้าไปกับท่าน ขอให้ท่านมีความมุ่งมั่นจริง ๆ แต่ตอนนี้เราเห็นความบกพร่อง และเราให้เวลาท่านในการตัดสินใจทบทวนมาตรการเหล่านี้ เริ่มที่ผลักดันเรื่องการฟื้นคดีตากใบ ทบทวนการยกเลิกกฎอัยการศึก ร่วมด้วยสัญญาณแบบนี้ ส่งสัญญาณให้เราหน่อย“ นายรอมฎอน กล่าว

Related Posts

Send this to a friend