KNOWLEDGE

ไทยโคเซ็น แฟร์ 2023 มิติใหม่ของการผลิตวิศวกรพันธุ์ใหม่

สำนักงานโครงการสถาบันไทยโคเซ็น สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สถาบันโคเซ็น แห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN-KMITL) และสถาบันโคเซ็น แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี (KOSEN KMUTT) ร่วมกันจัดงาน Thai KOSEN Fair 2023 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2566 ณ ห้องภิรัชฮอลล์ 1 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ระบบการศึกษา KOSEN และหลักสูตรที่รองรับ ภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่

กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยการแสดงผลงาน จากการประกวดระดับนานาชาติของนักศึกษา, การอภิปรายมุมมองของการพัฒนา ความร่วมมือเพื่อพัฒนา, การศึกษาและอุตสาหกรรม, การจัดนิทรรศการ ของภาคอุตสาหกรรมเต็มพื้นที่, การแนะแนวการศึกษาต่อ ในสถาบันไทยโคเซ็น และสถาบันโคเซ็นที่ประเทศญี่ปุ่น

นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า เนื่องจากภาคอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ของไทย มีสัดส่วนการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นอยู่ในอันดับสูงสุด จึงได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ กับรัฐบาลญี่ปุ่นในการนำระบบการศึกษารูปแบบ KOSEN เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษา มีความพร้อมทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทักษะขั้นสูง สร้างความมั่นใจในการพิจารณา เลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ในอุตสาหกรรมระดับสูง ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ที่ได้รับความไว้วางใจจากประเทศญี่ปุ่น ในการนำระบบการศึกษาหลักสูตร KOSEN ที่สมบูรณ์แบบที่มีคุณภาพมาตรฐาน เทียบเท่าสถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านระบบการประเมินคุณภาพมาตรฐาน (KOSEN International Standards: KIS) ที่จะมีผลบังคับใช้ กับสถาบันโคเซ็นแห่ง สจล. และสถาบันโคเซ็นแห่ง มจธ. ในการรับรองคุณภาพมาตรฐานให้เทียบเท่า สถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น ในปีการศึกษา 2568 เมื่อมีผู้สำเร็จการศึกษาและเข้าสู่สถานประกอบการ ในภาคอุตสาหกรรม

“อยากให้สังคมไทยเข้าใจหลักสูตรโคเซ็น และรับรู้ถึงการเป็น วิศวกรพันธุ์ใหม่ที่เรียนรู้ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไป อย่างสร้างสรรค์ ด้วยทักษะการทำงานร่วมกัน ที่มีประสิทธิภาพ มีความเป็นผู้นำและคิดแก้ปัญหา สามารถสร้างหุ่นยนต์ หรือสร้างระบบเชิงวิศวกรรมออกมาเพื่อนำไปใช้งานได้อย่างแท้จริง ภายใต้การสนับสนุน ของภาคอุตสาหกรรม ระหว่างการศึกษา สามารถไปสร้างผลงาน จนได้รับรางวัลระดับนานาชาติมาแล้ว ทั้งจากองค์กรระหว่างประเทศ การแข่งขันหุ่นยนต์ประดิษฐ์ที่ญี่ปุ่น นักศึกษาไทยโคเซ็นมีความโดดเด่น ทฤษฎีแม่น ปฏิบัติจริง มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น จากการเรียนในชั้นเรียน ทำให้มีทั้งทักษะด้านภาษาที่ดี และพร้อมที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ แก่ภาคอุตสาหกรรม”

ในช่วง 10 ปีแรกของโครงการได้กำหนดเป้า การผลิตวิศวกรจากหลักสูตร 5 ปี จำนวน 1,080 คน โดยนักเรียนทุนรุ่นแรกที่จะสำเร็จ การศึกษาจากสถาบันโคเซ็นแห่ง สจล. ในปีการศึกษา 2567 จำนวน 24 คน และที่มีนักเรียน โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ได้รับทุนไปศึกษาต่อ ณ สถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น หลักสูตร 7 ปี ในระดับปริญญาตรี จำนวน 72 ทุน ครบทุกชั้นปีในปีการศึกษาหน้า

ขณะที่สถาบันโคเซ็นแห่ง สจล. และสถาบันโคเซ็นแห่ง มจธ. จะเริ่มจัดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่อง (Advanced Course) เพื่อรองรับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปีที่ 5 เข้าศึกษาต่อเพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนต่อ และทำงานในสถานประกอบการไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งนักศึกษามีโอกาสได้ไปฝึกอบรม และไปทำวิจัยที่สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ในสถาบันไทยโคเซ็นด้วย

ทั้งนี้หลักสูตรไทยโคเซ็น ที่เปิดสอนที่สถาบันโคเซ็น แห่งสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN-KMILT) ประกอบด้วยหลักสูตร Mechatronics Engineering, Computer Engineering และ Electrical and Electronics Engineering ขณะที่สถาบันโคเซ็นแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KOSEN KMUTT) จัดการเรียนการสอนหลักสูตร Automation Engineering, Biological Engineering และ Agricultural Engineering มีเป้าหมายเพื่อผลิตวิศวกร สำหรับภาคอุตสาหกรรม ตอบโจทย์ความต้องการ กำลังคนของประเทศได้ โดยใช้เวลาเรียนสั้นลง สามารถออกแบบ สร้างสรรค์ชิ้นงาน ลงมือทำเป็น ทำงานได้เร็วขึ้นและทำงานได้จริง

ส่วนเส้นทางการพัฒนาทางวิชาการและวิชาชีพ หลังจากเรียนสำเร็จหลักสูตร 5 ปีแล้ว ผู้ที่ต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หรือระดับที่สูงขึ้น สถาบันไทยโคเซ็นทั้งสองแห่ง ได้ออกแบบและพัฒนาหลักสูตรรองรับ ในลักษณะที่สอดคล้อง กับผู้ที่ต้องปฏิบัติงาน เพื่อชดใช้ทุนการศึกษา และขยายเงื่อนไขทุนการศึกษา ให้สามารถปฏิบัติงานได้หลังสำเร็จการศึกษา

สำหรับการจัดงาน ไทยโคเซ็นแฟร์ 2023 ในครั้งนี้ มีภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก สนใจเข้าร่วมงาน และให้ความร่วมมือ ในการรับนักศึกษาสถาบันไทยโคเซ็น ไปฝึกประสบการณ์ ในสถานประกอบการ และตอบรับนักศึกษา ที่สำเร็จการศึกษาเข้าทำงาน เป็นการรวมพลังจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา ร่วมกันขับเคลื่อนส่งเสริม สร้างความมั่นคงแก่หลักสูตรและผู้สำเร็จการศึกษา ให้เป็นวิศวกรสายพันธุ์ใหม่ ที่มีความพร้อมตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และยังได้มีการแสดงเจตจำนง ที่จะทำความร่วมมือ ในการจัดการศึกษา การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และการรับเข้าทำงาน หลังนักศึกษาสำเร็จการศึกษากว่า 30 แห่ง

Related Posts

Send this to a friend