POLITICS

ร้อง กมธ.ผู้พิการ ค้านร่างกฎ ก.พ.กีดกันผู้ป่วยทางจิต ไม่ให้เข้ารับราชการ

3 สมาคมร้อง กมธ.ผู้พิการ สภาฯ คัดค้านร่างกฎ ก.พ. กีดกันผู้ป่วยทางจิตไม่ให้เข้ารับราชการ มองเป็นกฎหมายเหมารวม ชี้การตีตราเท่ากับฆ่าคน

วันนี้ (4 พ.ย. 65) สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย สมาคมเสริมสร้างชีวิต และสมาคมสายใยครอบครัว ร่วมยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนางมุกดา พงษ์สมบัติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯ คนที่สาม นางอาภรณ์ สาราคำ ส.ส. อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ และธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ รับยื่นหนังสือ

โดยในหนังสือระบุว่า เครือข่ายคนพิการทางจิตสังคม คัดค้านร่าง กฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. … ที่ระบุโรคต้องห้ามในการ เข้ารับราชการไว้โดยเฉพาะในข้อ 4.2 ว่า “โรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) ที่ปรากฏอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่” เป็นการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากเจาะจงที่โรคทางจิตสองกลุ่มนี้ ทําให้เกิดการเพ่งเล็งในทางลบ

กฎข้อนี้ยังส่งผลร้ายในทางอ้อมที่เสียหายใหญ่หลวงกว่า คือมีการเหมารวมและการตีตรา เป็นอุปสรรค ทําให้ผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษา เพราะไม่ต้องการมีประวัติ ซึ่งทําให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น อาจทําลายข้าวของ พลาดพลั้งทําร้ายตนเองหรือผู้อื่นได้ ทําให้เกิดภาระทางสังคมและเศรษฐกิจ

ร่าง กฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. … กระทบต่อชีวิตของคนจํานวนมาก จากสถิติของการเข้ารับการรักษาของกรมสุขภาพจิต ปี 2564 คนที่มีโรคจิต หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ มีจํานวนมาก คือ คนที่ป่วยด้วยโรคจิตเภทและโรคจิตอื่น ๆ 61,058 คน คนเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว 10,368 คนและคนเป็นโรคซึมเศร้า 37,941 คนรวมเป็นอย่างน้อย 109,367 คนยังไม่นับคนที่เข้าไม่ถงึ การรักษาอีกจํานวนมาก ฉะนั้น ผลกระทบต่อสังคมก็จะมากตามไปด้วย

อีกประการหนึ่ง การทําประชาพิจารณ์ ร่าง กฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. … นี้เป็นเพียงการโพสต์ในเว็บไซต์ของ ก.พ. ทําให้ เป็นที่ทราบในขอบเขตจํากัด แม้จะมีเปอร์เซ็นต์การเห็นด้วยสูง แต่ไม่เที่ยงตรงเนื่องจากกลุ่มตัวอย่างไม่ได้มีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียที่ครอบคลุมเพียงพอ เราผู้อยู่กับโรคจิตเวชไม่ได้รับการติดต่อให้แสดงความคิดเห็น ไม่ได้รับข่าวสารเลย จนมีข่าวว่ามีมติ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 จึงได้รับทราบและดําเนินการคัดค้านดังที่เป็นข่าว

ร่าง กฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. … สวนทางกับความรู้ ความเข้าใจและแนวทางดําเนินการเรื่องสุขภาพจิตและการทํางาน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ข้อ 8 ก็กําหนดให้การทํางานที่มีคุณค่าเป็นเป้าหมายสําคัญอย่างหนึ่งของการพัฒนา อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ข้อ 27 ก็ระบุว่า รัฐต้องส่งเสริมการมีงานทําของคนพิการ ไม่ใช่ตัดโอกาสคนที่ป่วยทางจิต เรื้อรังซึ่งเป็นคนพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม ทั้งยังขัดกับแนวทางของกรมสุขภาพจิตที่ทํางานอย่างหนักเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการ บําบัดรักษา ลดตราบาป และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้ป่วยผ่านการสนับสนุนทางการแพทย์ ทางสังคม และการพัฒนาคุณสมบัติ จากการส่งเสริมการเรียนและการทํางาน

สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย สมาคมเสริมสร้างชีวิต และสมาคมสายใยครอบครัว มีความประสงค์ เช่นเดียวกับ ก.พ. ที่จะให้ประเทศชาติได้ข้าราชการที่มีความสามารถ เป็นคนดี และสร้างคุณประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ คนพิการ ทางจิตสังคมที่เอาชนะอุปสรรคนานัปการจนเรียนสําเร็จ และสอบผ่านข้อเขียนมาถึงขั้นสัมภาษณ์และจะบรรจุได้ย่อมเป็นคนมี คุณภาพที่สมควรได้รับโอกาสทํางานรับใช้ประเทศชาติ สมควรได้รับการสนับสนุนในการทํางานอย่างสมเหตุสมผล เยี่ยงสังคม อารยะทั่วไป ไม่ควรถูกการตีตราหรือเหมารวม ทําให้หมดโอกาสสร้างคุณค่าและความหมายต่อตนเองและสังคม

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เสียงของเราที่ให้ข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นจะได้รับการรับฟังและรัฐจะดําเนินการยกเลิกกฎ ดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของสังคมไทยต่อไป

“การตีตรานี้มันฆ่าคน … ขอให้รัฐบาลทบทวนการลงมติเห็นชอบร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรคฉบับนี้ เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยเจาะจง มีแนวโน้มเหมารวมว่าพวกเขาไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งไม่ใช่ความจริง คน ๆ หนึ่งสามารถต่อสู้ เรียนจนจบ สอบผ่าน สัมภาษณ์ได้ แสดงว่ามีความสามารถ ฮึดพอจะทำงานได้ เขาจึงไม่ควรถูกจำกัดเช่นนี้” นางเครือวัลย์ เที่ยงธรรม จากสมาคมเสริมสร้างชีวิต กล่าว

ด้าน นางมุกดา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวตอบรับขณะรับยื่นหนังสือว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เรามีเวลาทำงานในสภาผู้แทนราษฎรอีกน้อย แต่เราคงจะเชิญท่านมาให้ข้อมูลกับเรา และยินดีนำสู่การแก้ไข คณะกรรมาธิการฯ ของเราคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ เราจะร่วมด้วยช่วยกัน

Related Posts

Send this to a friend