พ.ต.อ.ทวี เป็นประธานกล่าวปฏิญาณตน ในโอกาสครบรอบ 21 ปี DSI

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นประธานกล่าวปฏิญาณตน ‘ข้าราชการและบุคลากร DSI ไร้ทุจริต’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี DSI
วันนี้ (3 ต.ค. 66) เวลา 07.30 น. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีปฏิญาณตน “ข้าราชการและบุคลากร DSI ไร้ทุจริต” และประกาศคำมั่นสัญญายึดถือค่านิยมร่วม “เกียรติศักดิ์ เชี่ยวชาญ และซื่อสัตย์” ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในงานวันคล้ายวันสถาปนากรมสอบสวนคดีพิเศษ ครบรอบปีที่ 21 โดยมี พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ข้าราชการ และบุคลากรกรมสอบสวนคดีพิเศษกว่า 1,000 คน ร่วมกล่าวคำปฏิญาณ ณ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้ เป็นโอกาสดีที่ทุกคนจะร่วมแรงร่วมใจฟันฝ่าอุปสรรค เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ คืนความยุติธรรมและความผาสุกให้กับประชาชน
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 เพื่อทำหน้าที่ป้องกัน ปราบปราม สืบสวน สอบสวน และดำเนินคดีพิเศษ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานระยะ 5 ปี เพื่อขับเคลื่อนงานปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ มุ่งเน้น 4 ด้านหลัก ดังนี้
ด้านที่ 1 ยกระดับการสืบสวนสอบสวนสู่มาตรฐานสากล มุ่งเน้นคดีที่มีผลกระทบสูงในวงกว้าง มีมาตรการทำงานเชิงรุก พัฒนากระบวนการสืบสวนสอบสวนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ปรับปรุงกระบวนงานเพื่อให้ผู้รับบริการเข้าถึงง่าย รวดเร็ว และเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด การดําเนินคดีต้องสำเร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ และความครบถ้วนในพยานหลักฐาน ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวน
ด้านที่ 2 พัฒนาทรัพยากรบุคคลมืออาชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี พัฒนาทักษะการสืบสวนสอบสวน และทักษะทางดิจิทัล ตลอดจนความเชี่ยวชาญในแต่ละสายงาน จัดทำแผนพัฒนาบุคลากรให้ชัดเจน มีหลักสูตรเหมาะสมกับบุคลากรทุกระดับ มุ่งเน้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต โปร่งใส มีคุณธรรม จริยธรรม ส่งเสริมระบบสวัสดิการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี
ด้านที่ 3 บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และทุกมิติ เน้นทำงานป้องกันและป้องปรามเชิงรุก สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังในพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรมคดีพิเศษ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอำนวยความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
ด้านที่ 4 พัฒนาและขับเคลื่อนองค์การตามหลักธรรมาภิบาล ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน พัฒนานวัตกรรมการให้บริการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้สะดวก รวดเร็ว และประหยัด ปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับเกณฑ์การบริหารจัดการภาครัฐ PMQA และเกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานภาครัฐ (ITA)