POLITICS

สุชัชวีร์’ มุ่งสร้างเมืองสวัสดิการเท่าเทียม หนุนสิทธิชุมนุมถูกกฎหมาย

‘เอ้ สุชัชวีร์’ มุ่งมั่นเป็นผู้นำกระชับระบบราชการ กทม. สร้างเมืองสวัสดิการเท่าเทียม หนุนสิทธิชุมนุมถูกกฎหมาย

วันนี้ (3 พ.ค. 65) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นกล่าวบนเวทีเปิดแนวคิดผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน หัวข้อ “กรุงเทพฯ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ศ.ดร.สุชัชวีร์ เริ่มต้นกล่าวนโยบายโดยอธิบายความหมายสิทธิมนุษยชนว่า สิทธิของความเป็นมนุษย์ จากการเดินมา 50 เขต พบว่า คนกรุงเทพฯ ไม่เท่ากันจริง จงประกาศวิสัยทัศน์ชัดเจนว่า กทม. ต้องเป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัยต้นแบบของอาเซียน จากการเริ่มต้นว่าเป็นเมืองสวัสดิการ เพราะต้องทำให้ทุกคนเข้าถึงการบริการที่ฟรี ทั่วถึง และเท่าเทียม ให้ลุกยืนขึ้นอย่างแน่นและมั่น ก่อนจะวิ่งไปทิศทางที่ต้องการ และที่ต้องทันสมัยเพราะที่ผ่านมาเราเสียโอกาสจากการไม่ใช้เทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหารถติด น้ำท่วม การทุจริตคอรัปชั่น ส่วนที่ต้องเป็นต้นแบบของอาเซียนเพราะคนไทยน่ารัก มีทรัพยากรสมบูรณ์แบบ แต่ยังขาดผู้นำที่จะได้ใช้ศักยภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวถึงการแสดงสิทธิทางการเมืองว่า ผมสนับสนุนภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ผมเป็นผู้ว่าฯ จะไม่มีเรื่องสองมาตรฐาน จะดูแลทุกคนอย่างมีมาตรฐานเดียวกัน แต่ที่สำคัญเราเห็นความแตกต่างว่าป้ายหาเสียงถูกกรีดเต็มถนนพระรามที่ 6 สิทธิความปลอดภัยจึงต้องเป็นสิทธิพื้นฐานของคน กทม. ต้องมีการใช้กล้อง CCTV ที่เชื่อมต่อด้วยไวไฟ ดังนั้น การชุมนุม ความปลอดภัยจะได้รับการการันตีแน่นอน

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวถึงปัญหาคนไร้บ้านว่า ถ้าเราคิดว่าเป็นปัญหาหรือเรื่องน่ารังเกียจคือผิดเลย เราต้องคิดว่าคนเท่ากัน คนในเมืองต้องได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน หากเขาต้องการอยู่นอกบ้านเราต้องดูแล หากส่งกลับบ้านได้รับความอบอุ่นได้เราต้องทำ หากเขาตกงานก็ต้องมีที่พักพิงและฝึกอาชีพให้ พร้อมประสานหางานให้ได้ด้วย สุดท้าย คนไร้บ้านหลายคนประสบปัญหาเรื่องจิตเวช ผมตั้งใจเป็นผู้ว่าฯ ที่ดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีนักจิตบำบัดอย่างทั่วถึง ปัญหาคนไร้บ้านต้องดูแลเยียวยาให้อุ่นใจ คิดว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวคนกรุงเทพฯ

“เส้นด้ายเป็นข้อพิสูจน์ว่าระบบสาธารณสุขไม่เท่าเทียม ปัญหาชัดคือปัญหาคอขวด ระบบราชการมีปัญหา ขาดกำลังคนและเครื่องมือแพทย์ ทรัพยากรเหล่านี้ต้องเต็มที่ทุกชุมชน” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวถึงปัญหาสาธารณสุขที่มูลนิธิเส้นด้ายประสบมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่าจะแก้ไขระบบราชการกรุงเทพมหานครอย่างไร ผมเคยอยู่ในหน่วยงานที่ทำงานยากที่สุดอย่างมหาวิทยาลัย ในระบบราชการเราทำได้อย่างการกระชับมันเข้า อย่างลืมว่าเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ กทม. 80,000 คนต้องตั้งเป้าหมายร่วมกันให้ได้ สิ่งสำคัญคือภาวะความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่นของผู้ว่าฯ กทม. พร้อมทั้งกล่าวถึงกรณีผู้อำนวยการเขตไม่อนุญาตให้จัดเวทีดังกล่าวที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครว่า กทม. ต้องอนุญาต และอำนวยความสะดวกทุกอย่างเต็มที่ด้วย ดูแลเป็นพิเศษ

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวถึงการตกงานของนักศึกษาจบใหม่หลังการแพร่ระบาดของโควิด19 ว่า ยุคนี้จบมาแล้ว การหางานทำไม่ใช่เรื่องง่าย น้องที่จบปริญญาตรีก็เป็นปัญหาหนึ่ง แต่ยังมีคนอีกหลายระดับกว่านั้นยังไม่มีงานทำ ศูนย์ฝึกอาชีพเราทำให้ดีได้ แต่จบแล้วยังหางานไม่ได้ ผมตั้งใจจะริเริ่ม Bangkok Job Center ให้เป็นบริการขั้นพื้นฐานอย่างหลายเมืองทั่วโลก

ศ.ดร.สุชัชวีร์ ตอบคำถามเรื่องความเจริญของเมืองในย่านชุมชนดั้งเดิม (Gentrification) ว่า ส่วนตัวตั้งใจเป็นผู้ว่าฯ ที่รับฟัง และมีส่วนร่วม ต้องไม่ปล่อยปละละเลยผังเมืองให้เละเทะอย่างที่ผ่านมา พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายทั้งคนที่อยู่อาศัยเดิมและนักวิชาการ

“เราต้องคิดว่า กทม. ต้องเป็นเมืองที่ให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ดูแลเขาให้เท่าเทียมกันจริง ผมตั้งใจเป็นผู้ว่าฯ ที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจน 4 ปีนี้ ใครจะมีนโยบายอะไรก็พูดได้ แต่ทุกอย่างจะสำเร็จได้ ต้องโฟกัส โฟกัส และโฟกัสเท่านั้น จะเป็นผู้ว่าฯ ที่ไม่อยากส่งมอบปัญหาและคำถามแบบเดิมให้ผู้ว่าฯ คนต่อไป” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend