POLITICS

‘สกลธี’ เห็นด้วยกรุงเทพฯต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นผู้ว่าที่หาเงินได้ ใช้เงินเป็น

เล็งกระจายงบ-ความเจริญถึงชานเมือง เห็นด้วยชุมนุมใต้กรอบกฎหมาย หากเกินขอบเขตต้องรับผิดชอบทางคดีเหมือนกรณีตนเอง

วันนี้ (3 พ.ค. 65) นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 3 (อิสระ) ขึ้นกล่าวบนเวทีเปิดแนวคิดผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน หัวข้อ “กรุงเทพฯ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นายสกลธี กล่าวว่า ชื่องานเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตรงกับนโยบายของตนเองที่เคยเปิดตัวไปก่อนหน้านี้ การที่จะทำงบประมาณและบริหารกทม.ให้ดี จะเป็นผู้ว่าที่หาเงินได้และใช้เงินเป็น กทม.ต้องเริ่มหางาน รอการอุดหนุนจากรัฐบาลอย่างเดียวคงไม่พอ การรอเงินอุดหนุนทำให้กทมไม่สามารถพัฒนาไปได้อย่างที่เป็น

เรื่องวิกฤติสาธารณสุข ตอนเป็นรองผู้ว่าได้มีโอกาสรับผิดชอบบางส่วน เห็นปัญหา เห็นตรงกับเส้นด้าย คือการกระจายอำนาจลงไปจุดต่างๆต้องมีมากขึ้นเพราะที่ผ่านมารวมศูนย์ไว้หมด ข้อดีของกทมคือมีศูนย์สาธารณสุข 69 ศูนย์ กระจายอยู่ตามชุมชนใหญ่ แต่ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร นโยบายคือเราต้องติดอาวุธ บุคลากร เทคโนโลยี แบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลให้ได้ เพิ่มศูนย์บริการสาธารณสุขให้่ทั่วถึง เพิ่มงบประมาณให้ยืนหยุ่นให้ได้ในภาวะวิกฤติ เพราะนโยบายเดิมแข็งเกินไป ในภาวะฉุกเฉินต้องแก้ปัญหาให้ได้ไวที่สุด และเล็งรวมกลุ่มอาสาสมัครเช่น เส้นด้าย เราต้องรอด เข้าระบบเพื่อให้เกิดการดูแลอย่างทั่วถึง

“…กทม.อาจไม่มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลปัญหาค่าครองชีพ แต่ผู้ว่ากทม.ต้องใช้ทุกอย่างที่มีเพื่อช่วยเหลือ คือการหาเงินให้เขา กทม.มีระเบียบที่สามารถจัดสรรงบประมาณได้ ต้องเป็นนักบริหารหาแหล่งทุนมาช่วยเหลือ สร้างอาชีพ อย่าเพิ่งหมดหวังกับโรงเรียนฝึกอาชีพของกทม. ทั้งการฝึกเรื่อง ตัดผม นวด เพราะตลาดแรงงานมีความต้องการมาก ต้องติดอาวุธคนในชุมชน คนรายได้น้อย นักศึกษา ส่วนเรื่องการเพิ่มรายได้ให้คนกทม. กทม.จัดพื้นที่สาธารณะให้ขายอย่างสมดุล โดยคุ้มครองสิทธิคนเดินเท้าและคนที่จราจร ต้องช่วยผู้ค้าที่ไม่มีกำลังไปเช่าแผงในอาคารพาณิชย์ ปรับพื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่ทำมาหากิน…”

ส่วนปัญหาการแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่สาธารณะ ตนเห็นด้วยกับการใช้สิทธิในการชุมนุมอย่างเต็มที่ เพราะเคยทำมาก่อน คิดว่าหากทำภายใต้กฎหมายหรือพื้นที่ที่กำหนดไว้ต้องเปิด แต่หากขัดต่อกฎหมายอย่างที่ตนเคยทำก็ต้องรับผลของการกระทำ ตนก็ต้องสู้คดีมาหลายปีแล้ว ส่วนการชุมนุมที่อยู่ในกรอบของกฎหมาย กทม.ต้องช่วยเรื่องห้องน้ำ เรื่องไฟ และอื่นๆ อย่างเต็มที่

ส่วนปัญหาคนเร่ร่อน จะแก้ได้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ต้องบูรณาการ เจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่กทม. หากพบว่าเป็นคนป่วยต้องพาไปรักษา ส่วนคนไม่ป่วยก็ต้องดูแล เอามาพักผ่อนมาฟื้นฟู ฝึกอาชีพ แล้วคืนสู่สังคม

นายสกลธี ตอบคำถามเรื่องการไม่ให้ใช้พื้นที่ลานหน้าหอศิลป์ กทม. จัดเวทีวันนี้ ระบุ เห็นด้วยว่าควรจัดงานในพื้นที่สาธารณะได้ ส่วนกรณีการชุมนุมเป็นหน้าที่หลักของตำรวจ กทม.เป็นผู้ช่วยเหลือเรื่องไฟส่องสว่าง เรื่องห้องน้ำ ส่วนการจะเปิดให้ทำหรือไม่เป็นดุลยพินิจของแต่ละท่าน ที่ผ่านมาที่สาธารณะไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะเจ้าของพื้นที่มีโครงการจะทำอย่างอื่นอยู่แล้ว การเป็นผู้ว่าคือต้องเจรจาเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้

สกลธี เผยสิ่งแรกที่จะทำให้ได้ภายใน 100 วัน ว่า จะพยายามดูงบประมาณและกระจายงบประมาณให้มากที่สุด ที่ผ่านมาไม่มีการพัฒนาพื้นที่รอบนอกกทม.เท่าที่ควร ผู้ว่าต้องกระจายความเจริญไม่ให้กระจุกตัวอยู่เพียงตรงกลาง สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนนอกเมืองได้รับความเจริญที่เท่าเทียมกับในเมือง

Related Posts

Send this to a friend