POLITICS

ศาลแจงข้อเท็จจริง การปล่อยชั่วคราว ตะวัน-แบม

ศาลแจงข้อเท็จจริง การปล่อยชั่วคราว ตะวัน-แบม ก่อนจำเลยขอยกเลิกประกันด้วยตนเอง ยืนยันศาลทำหน้าที่ปราศจากการแทรกแซง

วันนี้ (3 ก.พ. 66) นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงและแนวทางการพิจารณาและการยกเลิกการปล่อยชั่วคราว โดยระบุว่า ตามที่มีข่าวในสื่อมวลชน กรณีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ศาลอาญามีคำสั่งยกเลิกการปล่อยชั่วคราว แบม และ ตะวัน ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของศาลยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ศาลยุติธรรมขอแจ้งให้ทราบ ดังนี้

กรณีของ ตะวัน พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำการในลักษณะแบบเดียวกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้ติดกำไล EM (โดยความยินยอมของผู้ต้องหา)

ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2565 พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ตะวัน ได้ทำกิจกรรมที่เข้าข่ายเป็นการผิดเงื่อนไข จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

จากนั้นวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ใช้ตำแหน่งยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ตะวัน ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอีกครั้ง โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถาน และเงื่อนไขอื่นๆ และให้ตั้งนายพิธาเป็นผู้กำกับดูแลตะวัน

ในระหว่างนั้น ตะวัน ได้ขออนุญาตศาลไปทำกิจธุระหรือแม้แต่การไปเที่ยวพักผ่อนได้ตามสมควร โดยได้ขออนุญาตศาลไปทำกิจธุระรวม 19 ครั้ง ศาลอาญาได้พิจารณาอนุญาตถึง 14 ครั้ง เช่น นำคอมพิวเตอร์ไปซ่อม ทำบัตรประจำตัวประชาชน ตัดชุดกระโปรงนักศึกษา ซื้อเอกสารประกอบการเรียน ไปเที่ยวจังหวัดระยอง โดยศาลไม่อนุญาตเพียง 5 ครั้ง ด้วยเหตุกิจกรรมที่ขออนุญาตไปดำเนินการ มีลักษณะที่จะผิดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราว

จากนั้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ตะวัน และ แบม ได้ยื่นคำร้องขอยกเลิกการปล่อยชั่วคราวตนเอง ศาลอาญาจึงมีคำสั่งไปตามที่ผู้ต้องหาประสงค์ เพราะพฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏเข้าเกณฑ์เป็นกรณีผู้ต้องหาแสดงเจตนาว่าไม่อาจปฏิบัติตามเงื่อนไขของการปล่อยชั่วคราวตามที่ผู้ต้องหาและผู้กำกับดูแลรับรองกับศาลไว้ได้ อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่มีขึ้นเพื่อป้องกันภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวตามกฎหมาย เมื่อมีการยกเลิกการปล่อยชั่วคราวและศาลมีคำสั่งออกหมายขังแล้ว จึงไม่ต้องมีการไต่สวนอีก

ศาลยุติธรรมขอย้ำว่า กระบวนการไต่สวนและการมีคำสั่งออกหมายขังหรือปล่อยชั่วคราว เป็นการใช้ดุลพินิจโดยอิสระของผู้พิพากษา ปราศจากการแทรกแซงใด ๆ ทั้งเป็นไปภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยข้อเท็จจริงในลักษณะเดียวกันก็จะมีการพิจารณาดำเนินการไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกันทุกคดี ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปโดยเสมอภาคและเป็นธรรม อันจะดำรงไว้ซึ่งหลักความเป็นนิติรัฐและนิติธรรมต่อไป

Related Posts

Send this to a friend