POLITICS

‘ตรีนุช’ แจง แยกวิชาประวัติศาสตร์ ไม่ใช่การบังคับให้เด็กรักชาติ

‘ตรีนุช’ แจง แยกวิชาประวัติศาสตร์ ไม่ใช่การบังคับให้เด็กรักชาติ หรือสร้างภาระงานให้ครูมากขึ้น หลังนักวิชาการเห็นต่าง

วันนี้ (28 พ.ย. 65) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบการแยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ออกมาเป็น 1 รายวิชา อย่างเป็นทางการ โดยจะอยู่ในร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมกับพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ปีงบประมาณ 2566 เพื่อเป็นแนวทางให้ต้นสังกัดของสถานศึกษา และสถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รมว.ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การแยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกมาเป็น 1 รายวิชา จะไม่สร้างความยุ่งยากในการจัดการเรียนการสอน หรือสร้างภาระงานให้แก่ครูหรือนักเรียน เพราะเป้าหมายคือ ต้องการให้การเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่การสู้รบของประเทศไทยในอดีตเท่านั้น ยังมีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์โลก ขณะที่ซึ่งการเรียนประวัติศาสตร์แบบท่องจำเหมือนที่ผ่านมา อาจไม่ใช่คำตอบของการทำให้เด็กและเยาวชนไทยมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติเท่าที่ควร ดังนั้น โรงเรียนจะต้องมุ่งเน้นให้เด็กรุ่นใหม่ตื่นตัวกับการเรียนประวัติศาสตร์รูปแบบใหม่มากขึ้น

ก่อนหน้านี้ ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมา แทบไม่จำเป็น เพราะปัญหาสำคัญของการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในระดับประถมและมัธยมศึกษา คือ ขาดหลักสูตรสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ขาดตำราที่มีเนื้อหาถูกต้องทันสมัย หรือเป็นตำราที่สอนให้คนคิดเป็น นอกจากนี้ ยังขาดฐานข้อมูลกลางให้นักเรียนเข้าถึงความรู้ถูกต้อง โดยปัญหาสำคัญที่สุดอยู่ที่ เนื้อหาวิชาไม่ทันสมัย ไม่สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิชาการ และไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงความคิดของคนในสังคมปัจจุบัน ที่ให้ความสำคัญกับการคิดวิเคราะห์

ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา มองว่าการแยกวิชาประวัติศาสตร์ของ ศธ.เป็นการกระทำอย่างโจ่งแจ้ง ใช้อำนาจบังคับเพื่อให้เด็กรักชาติ ผิดหลักการทางการศึกษา โดยที่ผ่านมา วิชาประวัติศาสตร์สอนให้เด็กรักชาติ รักบรรพชนแบบท่องจำ การสอนแบบนี้จะทำให้เด็กมีอคติกับประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะมีข้อดีคือเด็กจะสนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากขึ้น แต่คำถามที่ตามมาคือ ทำไม ศธ.ถึงปรับปรุงวิชาประวัติศาสตร์แค่วิชาเดียว ทำไมไม่ปรับปรุงหลักสูตรครั้งใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นายสมพงษ์ ยังกล่าวว่า การสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่ดี ศธ.ควรจะปฏิรูปการเรียน เปลี่ยนการสอนให้เด็กตั้งคำถาม ให้เด็กศึกษาประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ สอนให้เด็กสามารถหาข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผล จะทำให้เด็กเกิดการรักชาติแบบมีตรรกะและเหตุผล ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการแยกวิชาประวัติศาสตร์ เพียงเพราะมีเป้าหมายต้องการให้เด็กรักชาติ เพราะทำแบบนี้จะทำให้การเรียนรู้ล้าหลัง และอาจทำให้เกิดความอนุรักษนิยมสูงขึ้นแบบน่าตกใจ

Related Posts

Send this to a friend