กมธ.พัฒนาการเมืองฯ มีมติค้านร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ
กมธ.พัฒนาการเมืองฯ มีมติส่งความเห็นค้านร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ ต่อสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ‘ณัฐชา’ ชี้มีความพยายามอย่างยิ่งในการดันเข้าวาระรัฐสภาอังคารหน้า ถามเหตุผลรัฐบาลเร่งเครื่องโค้งสุดท้าย เอื้อประโยชน์ใด ถึงขั้นตีกรอบการทำงานสื่อ
วันนี้ (2 ก.พ. 66) The Reporters คุยกับ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ถึงกรณีที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 8 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ในวันที่ 7 ก.พ. 66 มีระเบียบวาระเรื่องด่วน พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ
นายณัฐชา มองว่า เป็นไปตามคาดที่มีการเร่งกระบวนการในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สื่อฯ ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯ ได้รับการประสานจากกลุ่มสื่อมวลชนและกลุ่มนักเรียนที่คิดว่าจะได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายดังกล่าว ทางคณะกรรมาธิการฯ ก็ได้นำเข้าสู่ระเบียบวาระ และมีมติในการส่งหนังสือไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุความเห็นไม่เห็นด้วยในการเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากยังไม่มีการเปิดรับฟังเสียงสะท้อนโดยตรงจากผู้ได้รับผลกระทบ อย่างสื่อมวลชน กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ หรือประชาชนที่เผยแพร่ข้อมูลที่เข้าถึงผู้คนจำนวนมาก
“ถึงแม้จะเขียนภาพไว้สวยหรูว่าเป็นจริยธรรมอะไรต่าง ๆ แต่กระบวนการต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการปิดกั้นเสรีภาพให้สื่อทำงานได้ง่ายและคล่องตัวขึ้น อย่าลืมว่าเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน ประชาชนจะได้รับข่าวสารมากน้อยแค่ไหน อยู่ที่การทำงานของสื่อ หากตีกรอบการทำงานของสื่อ เท่ากับสื่อจะทีกฎหมายมาควบคุม แล้วจะการันตีได้อย่างไรว่ากฎหมายนั้นจะถูกใช้ไปในทิศทางใด”
นายณัฐชา ยังขยายความถึงหนังสือของคณะกรรมาธิการฯ ที่ส่งไปถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีว่า เป็นความเห็นไม่เห็นด้วยจากคณะกรรมาธิการฯ ที่เกิดจากการร้องเรียนโดยตรงจากตัวแทนต่าง ๆ พร้อมกับพูดคุยถกเถียงกันในที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ
“แต่แน่นอนก็ต้องสู้กับความพยายามของฝ่ายที่ต้องการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ เพื่อประโยชน์อะไรก็แล้วแต่ แต่มีความพยายามอย่างยิ่งในการเลื่อนระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาครั้งหน้า การเร่งรัดในในการออกกฎหมายช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ ต้องให้ประชาชนช่วยติดตามว่า รัฐบาลพยายามออกกฎหมายฉบับนี้เพื่อเอื้อสิ่งใดให้กับช่วงก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะไม่มีเหตุผลใดเลยที่ต้องเร่งก่อนรัฐบาลหมดวาระในอีกไม่กี่วัน”
สุดท้าย นายณัฐชา ยังสะท้อนเสียงถึงรัฐบาลว่า ความจริงแล้วรัฐบาลเหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนเท่านั้น ถ้าจะยุบสภาฯ ก่อนก็จะเหลือเวลาเพียงเดือนเดียว เพราะฉะนั้น ระยะเวลาเพียงไม่กี่วันที่เหลืออยู่ ท่านกลับมีความพยายามเร่งรัดผลักดันกฎหมายฉบับนี้ ทั้งที่ยังมองไม่เห็นเลยว่ากฎหมายฉบับนี้มีประโยชน์อย่างไร ประชาชนที่ส่งเสียงสะท้อนเข้ามาก็เป็นเสียงเดียวกัน สื่อมวลชนหลายสำนักทั้งกระแสหลักและโซเชียลมีเดียจัดการประชุมร่วมกันได้เลยว่ามีความเห็นอย่างไร แล้วนำความเห็นนั้นมาพิจารณาและสะท้อนในสภาฯ ใหม่
“ผมคิดว่าถ้าเกิดไม่มีความพยายามลักลั่นผลักดันกฎหมายฉบับนี้ไป ยังไงก็ไม่มีทางผ่านแน่นอนครับ” ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ กล่าว