POLITICS

‘เศรษฐา’ เผย เดินหน้านำสินทรัพย์ใต้ทะเลออกมาใช้

‘เศรษฐา’ ปาฐกถา “จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน” ชี้ พลังงานสะอาดเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องทำควบคู่ไปกับโครงสร้างพื้นฐาน เผย เดินหน้านำสินทรัพย์ใต้ทะเล ออกมาใช้ ยัน แยกเรื่องแบ่งผลประโยชน์ ออกจากพื้นที่ซับซ้อน

วันนี้ (14 ก.พ. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงาน Thailand Energy Executive Forum และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน” ณ ห้อง Infinity Ballroom โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ ถนนรางน้ำ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และเกี่ยวโยงกับทุกเรื่อง แม้ประชาชนจะทำอาชีพเกษตรมาก แต่การลงทุนเรื่องพลังงานก็สำคัญ แม้การเกษตรจะใช้แค่ปุ๋ย หรือน้ำ แต่ก็ต้องมีวิธีที่จะต้องนำน้ำมาใช้ ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน เพราะยังมีเกษตรกรที่ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟเช่นเดียวกัน สัปดาห์ที่ผ่านมาตนเองลงพื้นที่จังหวัดสระบุรี ดูเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีต้นทุนในการทำนาอยู่ที่ 5,000 – 6,000 บาท จ่ายค่าไฟ 500 บาท ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่มาก ดังนั้น การเรียกร้องให้ทำโซลาร์เซลล์ หรือทำให้ค่าไฟถูกลง ก็ต้องคำนึงถึงการซ่อมบำรุงด้วย ถือเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่สะท้อนว่าพลังงานก็มีส่วนสำคัญในชีวิตของประชาชนที่อยู่ในฐานรากของสังคม

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่ออีกว่า ตนเองมาจากภาคเอกชน ในฐานะนักธุรกิจ หรือผู้ที่ต้องจ่ายภาษีเยอะ เรื่องการช่วยเหลือ เราก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องอ่อนไหวที่เราก็ต้องทำ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของช่องว่างทางสังคม แต่เชื่อว่าเกษตรกรที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็มีศักดิ์ศรี เราก็อยากให้เขาอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่มาพึ่งให้รัฐบาลช่วยเหลือทุกเรื่อง เมื่อวานนี้ได้มีการพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่าจะต้องช่วยเหลือกันและเราจะทำโซล่าเซลล์ในหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ทำให้ค่าไฟเกษตรกรถูกลง มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าตั้งแต่ตนเองรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทุกที่ที่เดินทางไป เห็นหน่วยงานรัฐที่สนับสนุนการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ เป็นคนรุ่นใหม่ เข้าใจบริบทของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุน เข้าใจเรื่องสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี เข้าใจเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองไทยที่ดีกว่าประเทศอื่น โครงสร้างพื้นฐาน สนามบินที่ดี และจะมีดีกว่านี้ จะมีท่าเรือน้ำลึก เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เขารู้อยู่แล้ว แต่ทุกที่ก็เน้นย้ำในเรื่องของพลังงานสะอาด ซึ่งเราเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การเดินทางไปยุโรปในช่วงที่ผ่านมา และในเดือนหน้า ทุกคนก็ถามถึงเรื่องพลังงานสะอาด โดยก่อนหน้านี้ตนเองเชื่อว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทั้งหมด อย่างกระทรวงพลังงาน ปตท. ให้ความสำคัญ และตระหนักดีถึงเรื่องนี้ ที่เป็นกลไกสำคัญ ที่จะทำให้เราอยู่ในแนวหน้าของการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศมาได้ แม้เราจะไม่มีพลังงานนิวเคลียร์ โดยพลังงานนิวเคลียร์ในอเมริกา จีน และฝรั่งเศษ มีเทคโนโลยี ที่ล้ำหน้า ถ้ามีโอกาสก็จะได้ไปดู แต่เราจะสะสมความรู้ไป อาจจะถึงจุดที่พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่ถูกที่สุด และหลายท่านบอกว่าปลอดภัยที่สุด ย้ำว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหว เราก็ต้องศึกษากันต่อไป และเราโชคดีที่ในอดีตที่ผ่านมาเรามีเขื่อน ที่ทำให้เรามีพลังงานใช้ เหนือสิ่งอื่นในเรื่องของพลังงาน คือ พลังงานเป็นคีย์แฟคเตอร์ในการทำให้ประเทศพัฒนาไปข้างหน้า เชื่อว่าทุกคนในที่นี้เข้าใจ

นายกรัฐมนตรี ระบุอีกว่า ได้คุยกับนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน เรื่องระหว่างชายแดน การดูแลแรงงานของชาวกัมพูชาที่มาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันเศรษฐกิจไทยด้วย จึงได้ฝากเรื่องค่าแรงที่เหมาะสม ตนเองขอร้องวิงวอนทุกท่านว่า ประเทศมันขยับขึ้นไม่ได้ ถ้าฐานรากของสังคมไม่ขยับขึ้นมา

ส่วนเรื่องพื้นที่ทับซ้อนนั้นมีมูลค่ามหาศาล ขึ้นอยู่กับตัวเลขไหนที่ควรพูดกัน แต่เรามีปัญหาเรื่องเขตแดนอยู่ ก็เป็นเรื่องที่อ่อนไหว และหลายส่วนให้ความสนใจ เรื่องของสินทรัพย์ใต้ทะเล ต้องมีการพูดคุยกัน และเราให้ความสำคัญสูงสุดกับเรื่องนี้ แล้วจะนำสินทรัพย์นี้ออกมาใช้มากที่สุด ระหว่างการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เพราะอย่างไรก็ต้องพึ่งแก๊สอยู่ดี จึงอยากให้ทุกท่านสบายใจว่าเราจะเดินหน้าต่อไป โดยแยกแยะระหว่างปัญหาพื้นที่ทับซ้อน กับปัญหาเรื่องแบ่งผลประโยชน์ ยืนยันว่าเรื่องนี้ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้

เรื่องค่าพลังงานการเมินเฉยต่อกลไกตลาด ทำไม่ได้ พลังงานที่ผลิตขึ้นมาจะต้องมีผู้จ่าย และอาจจะต้องเป็นเงินของพวกเราทุกคนที่วนกลับไปจ่ายผู้ผลิต ทำให้ต้องเก็บเงินอยู่ดี แต่ความเชื่อมั่นที่สูญเสียจนประเมินค่าไม่ได้ การทุบโดยไม่ได้สนใจกลไกของการตลาด จะทำให้เกิดรัฐประหารทางเศรษฐกิจ เราอาจจะได้ค่าไฟที่ถูกอยู่ไม่กี่วัน แต่ต้องควักเอาเงินของประชาชนมาจ่าย และส่งผลกระทบต่อไป

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า แม้ว่าเราจะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการเดินทางของนักลงทุน หรือการส่งสินค้า แต่เมื่อไปถึงจุดหมายปลายทาง ยังต้องผ่านหน่วยงานหลากหลายหน่วยงาน ก็ยังต้องเสียเวลาในด้านต่าง ๆโดยที่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ตนเองก็ถือเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ต้องควบคู่ไปกับวิธีการทำงาน และพลังงานสะอาด

”หลายท่านพูดเรื่องกฎหมายกิโยติน ฟังดูแล้วมันเท่ห์ มันเก๋ แต่จริง ๆ แล้วทำไม่ได้มันยังทำไม่สำเร็จถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องพูดคุยกันอย่างจริงจังและอะไรทำได้ก็ทำก่อน“ นายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนเรื่องโครงการแลนด์บริจด์ คนไทยมีแค่ไม่ถึง 70 ล้านคน และมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้นการมาตั้งโรงงาน ก็ต้องมีการส่งออก ถ้าโลกเราไม่มีการพัฒนาทำโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่มโหฬาร รองรับการขนถ่ายสินค้าทั่วโลก ก็จะมีปัญหา 60% ของน้ำมันทั่วโลกผ่านช่องแคบมะละกา แม้หลายท่านจะคัดค้านโครงการนี้ แต่หลายประเทศให้ความสนใจ เพราะมองว่าการขนถ่ายสินค้าทั่วโลกเป็นเรื่องสำคัญ

Related Posts

Send this to a friend