LIFESTYLE

พาทัวร์ใจกลางกรุงฯ ส่อง ‘ทุนจีน’สะท้อนวิกฤตทุนจีนเบ่งบานในไทย

ในอดีต หากเราพูดถึงย่าน ‘บรรทัดทอง’ หลายคนอาจนึกถึงสายถนนที่อัดแน่นไปด้วยสตรีทฟู้ดไทย อาธิ ข้าวมันไก่, บัวลอย ฯลฯ แต่ในปัจจุบันเมื่อลองผ่านย่านดังกล่าวกลับพบว่าเต็มไปด้วยร้านอาหารสัญชาติจีนผุดขึ้นมาอย่างคับคั่ง จนอาจเปรียบว่าเป็น ‘เยาวราช’ สาขา 2 ก็ไม่ผิดนัก

หลังจากกระแส ‘หม่าล่าฟีเวอร์’ ในไทย ทำให้เกิดร้านอาหารสัญชาติจีนขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ เช่น ห้วยขวาง หรือรัชดา แต่ด้วยความเผ็ดร้อนซาบซ่านที่มัดใจชาวไทยได้อย่างอยู่หมัดนั้น ทำให้ธุรกิจจากแผ่นดินใหญ่เริ่มรุกคืบเข้าสู่ใจกลางกรุงอย่างเงียบ ๆ ทั้งยังพ่วงมาด้วยสินค้า และบริการต่าง ๆ ที่มีถิ่นฐานมาจากที่เดียวกันด้วย

(ถนน บรรทัดทอง, 30 กรกฎาคม 2566; นันทกร วรกา)

ทันทีที่ผู้สื่อข่าวย่างเท้าเข้าสู่ถนนเส้นดังกล่าว แสงสีจากไฟ LED ต่างระยิบระยับอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน จากย่านที่ไม่ค่อยพลุกพล่านมากนัก บัดนี้ ‘บรรทัดทอง’ ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ไม่นานนักจากการเดินสำรวจ ผู้สื่อข่าวพบกับ ‘ย่าโจวเสี่ยวสือผิ่น (Ya zhou xiaoshipin)’ ซุปเปอร์มาเก็ตจีนแห่งแรกเข้าอย่างง่ายดาย จากการตกแต่งด้วยสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ และอักษรจีนที่ปรากฎอยู่ทุกส่วนของตึกอาคาร

(‘ย่าโจว เสี่ยวสือผิ่น’ ซุปเปอร์มาร์เก็ตจีนที่ตั้งอยู่ริมถนนบรรทัดทอง)

ทันทีที่ก้าวเท้าเข้าสู่ซุปเปอร์ฯ กลิ่นชา และเครื่องเทศอบแห้งก็ฟุ้งต้อนรับอย่างไม่ทันตั้งตัว เมื่อกวาดสายตาไปทั่วทั้งร้านก็พบว่าสินค้าทุกชิ้นล้วนมาจาก ‘จีน’ ทั้งสิ้น ตั้งแต่ขนมขบเคี้ยว, บะหมี่กึ่งสำเร็จ รูปจนไปถึง ‘หวังหวัง’ นมกระป๋องแดงอันเลื่องชื่อบนสื่อโซเชียลมีเดีย

(‘หวังหวัง’ นมกระป๋องแดงที่เป็นที่นิยมอย่างมากบนสื่อโซเชียลมีเดีย)

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าประหลาดใจคือซุปเปอร์ฯ แห่งนี้มีบริการ ‘แลกเงิน’ อีกด้วย ซึ่งหมายความว่านักท่องเที่ยวจีนไม่จำเป็นต้องออกจากย่านนี้ก็สามารถมีเงินสดมาใช้สอยได้ จนเกิดข้อสงสัยเล็กๆ ว่าใครๆ ก็สามารถทำธุรกิจแลกเงินได้ใช่หรือไม่ มีการควบคุมด้านใดบ้างไหม

(ป้ายกระดาษแสดงข้อความ “Here Money Exchange” ณ บริเวณหน้าร้าน ‘ย่าโจว เสี่ยวสือผิ่น’)

ถัดมาจากซุปเปอร์ฯ แห่งแรกราว 200 เมตร ผู้สื่อข่าวก็เกิดประหลาดใจอีกครั้งที่ได้เห็น ‘ป้ายโฆษณา’ จากแอปพลิเคชันส่งอาหารชื่อดังในเมืองไทย ที่ล้วนแต่เป็นภาษาจีนทั้งสิ้น พร้อมทั้งมีส่วนลดสำหรับลูกค้าใหม่ระบุไว้อย่างชัดเจน

ระหว่างเดินตามหาซุปเปอร์ฯ แห่งที่ 2 ผู้สื่อข่าวสังเกตเห็นป้ายร้าน และป้ายเมนูอาหารต่าง ๆ ล้วนปรากฎอักษรจีนอย่างไม่ขาดสาย นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังสังเกตว่าพ่อค้าแม่ขายหลาย ๆ ร้านสามารถสื่อสารภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งนี่อาจเป็นสิ่งที่ร้านอาหารต่าง ๆ ต้องปรับตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต

หลังจากเลี้ยวเข้าซอยจุฬา 12 ราว 200 เมตร ผู้สื่อข่าวก็พบกับซุปเปอร์ฯ แห่งที่ 2 ‘หวังจงหวัง ซุปเปอร์มาร์เก็ตจีน (Wang Zhong Wang)’ ที่ติดป้ายขนาดใหญ่ไว้ด้านบนว่า ‘จุฬาฯ ซุปเปอร์มาร์เก็ตจีน’

(บรรยากาศหน้าร้าน ‘หวังจงหวัง ซุปเปอร์มาร์เก็ตจีน (Wang Zhong Wang)’)

ภายในร้านไม่ค่อยต่างจากร้านแรกนัก สินค้าที่วางจำหน่ายล้วนคล้ายกันอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ ‘ป้ายบอกราคา’ ของร้านนี้กว่า 80% เป็นภาษาจีน และเมื่อเดินลึกเข้าไปผู้สื่อข่าวก็พบ ‘โปสเตอร์สถานบันเทิงจีน’ แห่งหนึ่งย่านรามคำแหง ปิดประกาศไว้อย่างเปิดเผย

(ภาพโปสเตอร์สถานบันเทิงจีนแห่งหนึ่งย่านรามคำแหง ถูกปิดประกาศไว้อย่างเปิดเผย)

ร้านสุดท้ายที่ผู้สื่อข่าวกำลังเดินทางไปคือ ‘CQK หม่าล่า หม้อไฟ’ ซึ่งโด่งดังหลังเริ่มเปิดสาขาที่รัชดา ระหว่างทางผู้สื่อข่าวก็สังเกตเห็นป้ายรับสมัครพนักงานของร้านชาแห่งหนึ่ง ที่ปรากฎภาษาจีนควบคู่กับภาษาไทยอย่างชัดเจน ทั้งยังระบุไว้ว่า “หากได้ภาษาจีนพิจารณาพิเศษ” นอกจากนี้ร้านค้าในบริเวณดังกล่าวมีการติดสติ๊กเกอร์ข้อความเป็นภาษาจีนไว้แทบทุกร้าน ซึ่งกลับกลายเป็นว่าการหาภาษาไทยในย่านนี้เป็นเรื่องที่ยากไปเสียแล้ว

(ป้ายรับสมัครพนักงาน ณ ร้านชาแห่งหนึ่ง ปรากฏภาษาจีนควบคู่ภาษาไทยอย่างชัดเจน)

เมื่อผ่านอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ มาไม่นาน ผู้สื่อข่าวก็พบร้านขนาดใหญ่ราว 8 ห้องแถวตั้งตระหง่านอยู่ติดถนน ป้ายหน้าร้านระบุชื่อ ‘CQK’ พร้อมแสงไฟสว่างไสว แน่นอนว่าทุกอนูของด้านในร้านดังกล่าวล้วนคงความเป็นจีนไว้อย่างเต็มที่ ทั้งสี การตกแต่ง และป้ายอาหาร ราวกับว่าเป็นสถานที่นัดสังสรรค์ของชาวจีนในกลางกรุงก็ว่าได้

ในแง่หนึ่งดูแล้วก็เหมือนกับว่าการมีร้านต่าง ๆ เหล่านี้ผุดขึ้นมาใจกลางเมืองก็เหมือนเป็นการชักชวนให้ ’นักท่องเที่ยวกำลังสูง’ มาใช้จ่ายให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ในความคึกคั่กนี้เราอาจต้องกลับมาคิดกันแล้วว่า ‘สิ่งนี้’ ช่วยกระตุ้นให้เงินเข้าสู่คนในประเทศ หรือเป็นการเอื้อให้นายทุนจากแผ่นดินใหญ่มากอบโกยเงินไปกันแน่ และหากเป็นเช่นนั้น รัฐบาลควรคลอดมาตรการใด ๆ ออกมาเพื่ออุดช่องว่างตรงนี้หรือไม่

เรื่อง/ภาพ : นันทกร วรกา

Related Posts

Send this to a friend