LIFESTYLE

แนะ เช็คพฤติกรรมเสี่ยงทำร้ายดวงตา ป้องกันปัญหาที่ส่งผลกระทบการมองเห็น

นายแพทย์นพวุฒิ ตรีพรชัยศักดิ์ จักษุแพทย์แห่ง “แว่นท็อปเจริญ” เผยข้อมูลเกี่ยวกับภาวะสายตาผิดปกติและโรคตา ที่หลายคนประสบปัญหาอยู่ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากกรรมพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของดวงตา โรคประจำตัว รวมถึงพฤติกรรมบางอย่างที่ทำและพบเจอในชีวิตประจำวัน ที่อาจแฝงไปด้วยภัยเงียบซึ่งค่อยๆ ทำร้ายดวงตาเรา เนื่องในเดือนแห่งวันสายตาโลกปีนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 12 ตุลาคม 2566 นี้ ได้เน้นย้ำถึงการดูแลถนอมดวงตา ให้มีสุขภาพดี และแข็งแรงไปนานๆ พร้อมแนะหมั่นสังเกตพฤติกรรม ของตนเองและคนใกล้ชิด ให้ห่างไกลจากพฤติกรรมเสี่ยง ที่อาจส่งผลต่อดวงตาของเราได้

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อดวงตา ประกอบด้วยดังนี้

1.ใช้หน้าจออุปกรณ์ดิจิทัลติดต่อกันเกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่หยุดพักสายตา ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม ปวดตา ตาล้า ตาแห้ง แสบตา ภาพโฟกัสเบลอ โดยส่วนมากจะเกิดกับเหล่ามนุษย์ออฟฟิศ ผู้ที่ติดซีรีส์ สายโซเชียลที่ใช้โทรศัพท์ทั้งวัน และเหล่าเกมเมอร์ที่ชอบเล่นเกมแบบนอนสต็อป ซึ่งการเพ่งจ้องจอมือถือในระยะใกล้เกินไป มีโอกาสเพิ่มการเกิดภาวะสายตาผิดปกติได้ ทางที่ดีควรเว้นระยะห่าง จากหน้าจออย่างเหมาะสม ทุกๆ 20 นาทีให้พักสายตา 20 วินาที และมองไกลๆ ไปยังสิ่งที่อยู่ไกลกว่า 20 ฟุต และเลือกสวมแว่นตาที่ประกอบเลนส์กรองแสงสีฟ้า (Blue Cut)

2.ชอบอ่านหนังสือหรือดูทีวี ในที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอเป็นประจำ พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้สายตาทำงานหนักขึ้น เพราะต้องเพ่งจ้องตัวหนังสือ หรือปรับโฟกัสภาพให้คมชัดโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้กล้ามเนื้อตาอ่อนล้า จนเกิดอาการตาล้า ปวดตา หรือสายตาพร่ามัวชั่วขณะ เพื่อลดโอกาสการเกิดอาการเหล่านี้ ควรอ่านหนังสือให้มีระยะห่าง จากดวงตาอย่างน้อย 30 ซม. จัดระยะการรับชมให้เหมาะสมกับขนาดของหน้าจอทีวี และทำกิจกรรมในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ

3.สาย Outdoor ชอบกิจกรรมกลางแจ้ง การเผชิญกับแสงแดดที่มีรังสียูวี ก่อให้เกิดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจก โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อลมและต้อเนื้อ อีกทั้งยังทำให้เกิดอาการทางตา เช่น ตาล้าหรือสายตาพร่ามัว มักพบในผู้ที่ชอบเล่นกีฬากลางแจ้ง ชอบเดินทางท่องเที่ยว และมีอาชีพที่ต้องทำงานกลางแดด ดังนั้นควรปกป้องดวงตา โดยสวมแว่นกันแดดที่มีคุณสมบัติในการกรองรังสียูวีจากแสงแดดและลดแสงสะท้อน เพื่อถนอมดวงตาให้มีสุขภาพที่ดีอยู่เสมอ

4.ใช้แว่นตาอันเดิมที่มองอะไรก็เบลอไปหมด การใช้แว่นตาอันเดิมแต่การมองเห็นแย่ล งเพราะค่าสายตามีการเปลี่ยนแปลง หรือสวมใส่แว่นตาที่เสื่อมสภาพ จากการใช้งานมานาน รวมถึงแว่นตาที่ชำรุดจากการเก็บรักษาผิดวิธี ทำให้เลนส์มีรอยขีดข่วน เป็นพฤติกรรมที่ทำให้สายตาทำงานหนักมากขึ้น เนื่องจากต้องใช้สายตาเพ่งจ้อง เพื่อโฟกัสภาพให้คมชัดขึ้น ส่งผลให้มีอาการปวดตา ปวดหัว ตาล้า หรือมองเห็นภาพซ้อนได้ ทางที่ดีควรตรวจวัดสายตาเป็นประจำทุกปี สวมใส่แว่นตาเฉพาะบุคคล ที่สำคัญควรดูแลรักษา และใช้งานอย่างถูกวิธี จะช่วยถนอมแว่นตาให้อยู่กับเราไปนานๆ

5.การมองเห็นเปลี่ยนไป หรือเห็นสิ่งแปลกปลอม แต่ปล่อยไว้ไม่รักษา เป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจเกิดผลร้ายกับดวงตาในระยะยาว หากเริ่มมีอาการปวดตา มองเห็นภาพซ้อน ภาพเบลอ ไม่คมชัด เห็นสีผิดเพี้ยน หรือมองเห็นสิ่งแปลกปลอมอย่างแสงฟ้าแลบ จุดดำ หยากไย่ลอยไปมา เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเกิดความผิดปกติกับดวงตา โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มเสี่ยงที่มีกรรมพันธุ์ต้อหิน ประสบภาวะสายตายาว มีอาการนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ควรรีบพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หรือหากตรวจพบอาการผิดปกติจะช่วยให้ เข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว และป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอีกด้วย

Related Posts

Send this to a friend