HUMANITY

เปิดบทบาท UNHCR ไทยต่อวิกฤตผู้ลี้ภัยเมียนมา

ผู้แทนฯ ย้ำมุ่งเสนอทางออกด้านมนุษยธรรม ไม่จับกุม-ไม่ส่งกลับ CDM พร้อมประสานข้อมูลให้รัฐบาล หวังเป็นทางออกร่วมสองประเทศ

“ปรอทวัดไข้ของสถานการณ์โลก” คำจำกัดความที่ คุณจูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทีส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำประเทศไทย ใช้อุปมา ระหว่างสนทนากับ The Reporters ถึงสภาวะลี้ภัยในโลกปัจจุบัน

หากเราลองจับชีพจรโลกในปี 2565 สงครามรัสเซีย-ยูเครน แลจะเป็นภัยคุกคามมนุษยชาติระลอกใหญ่ที่สุด จนทุบสถิติผู้พลัดถิ่นเกิน 100 ล้านคนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

แต่หากลองเหลียวหลัง กลับมาดูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะพบว่า วิกฤตทางมนุษยธรรมที่ยังคุกรุ่นอยู่ คงจะไม่พ้นในประเทศเมียนมา นับแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 แน่นอนว่า ไทยในฐานะเพื่อนบ้าน ที่มีพรมแดนติดต่อกับเมียนมายาวที่สุดถึง 2,416 กิโลเมตร คงยากจะปฏิเสธผลกระทบซึ่งกันได้

จากข้อมูลของ UNHCR เมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2565 รายงานว่า ประเทศไทยมีบุคคลไร้รัฐ (Stateless Person) ตามฐานข้อมูลของรัฐบาลไทยมากถึง 566,686 คน มีผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยอื่นกว่า 4,812 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ส่วนผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาโดยเฉพาะนั้น มีถึง 91,040 คนที่พักพิงอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว 9 แห่งตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา

“ภารกิจของเราคือ การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและช่วยเหลือผู้ลี้ภัยภายในศูนย์พักพิงชั่วคราวทั้ง 9 แห่ง” คุณจูเซ็ปเป้ เน้นย้ำในหลักการการทำงานของ UNHCR ในไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มิได้เป็นภาคีสมาชิกกับอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี พ.ศ. 2494 และพิธีสารปี พ.ศ. 2510

แม้ไทยไม่ได้ให้สัตยาบันต่อข้อตกลงในระดับสากล คุณจูเซ็ปเป้ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว The Reporters ว่า UNHCR ในประเทศไทย ไม่ได้เสนอทางออกในเชิงการเมือง (Political Solution) ที่จำกัดอยู่ที่ตัดสินใจของรัฐ แต่ UNHCR จะเสนอทางออกต่อปัญหาในเชิงมนุษยธรรม (Humanitarian Solution) ไม่ว่าจะเป็นการส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง (Repatriation) การส่งไปยังประเทศที่สาม (Resettlement) หรือการอนุญาตให้ประกอบสัมมาชีพ (Permission to Work) ซึ่งตัวเลือกสุดท้ายนี้เอง ที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ ท่ามกลางบริบทหลังรัฐประหารที่ยากต่อการส่งกลับประเทศต้นทาง

ทั้งนี้ มีรายงานว่า หลังช่วงรัฐประหารในเมียนมา ก็มีบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่สังกัดขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement: CDM) ต่อต้านความชอบธรรมของกองทัพต่อในการบริหารราชการแผ่นดิน แล้วถูกคุกคามจนต้องข้ามพรมแดนมาแสวงหาที่ปลอดภัยในไทย ประเด็นดังกล่าวแม้จะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่คุณจูเซ็ปเป้ มองว่า UNHCR ได้ประสานงานกับรัฐบาลไทย ขอความร่วมมือไม่จับกุมหรือผลักดันส่งกลับเมียนมา เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ยังพอได้รับความปลอดภัย รอจนกว่าสถานการณ์ในเมียนมาจะคลี่คลาย

แม้หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า วิกฤตเมียนมาเป็นความขัดแย้งตึงเครียดที่กระทบต่อชีวิตพลเรือนมหาศาล จนกระทั่งสมาชิกอาเซียนมีการประชุมวาระพิเศษเมื่อเดือนเมษายน 2564 เพียง 2 เดือนให้หลังจากการรัฐประหารเมียนมา เพื่อบรรลุฉันทามติ 5 ข้อ แต่ผ่านมาร่วมปี กรอบดังกล่าวดูจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

The Reporters จึงชวนผู้แทน UNHCR ประจำประเทศไทย มองไปถึงบทบาทของ UNHCR ต่อการแสวงหาข้อยุติวิกฤตเมียนมา ที่พอเป็นไปได้ในระดับทวิภาคี (Bilateral) ที่พอเป็นไปได้ จนพบว่า แม้การประชุมไตรภาคี (Trilateral) ระหว่างรัฐบาลโดยมี UNHCR อีกภาคส่วนเข้าร่วมด้วยนั้น ไม่น่าจะนำมาซึ่งทางออกได้จริง แต่สำนักงาน UNHCR ประจำทั้งสองประเทศ มีช่องทางที่สามารถส่งรายงานข้อมูลไปยังรัฐบาลได้โดยตรง ซึ่งแล้วแต่ว่ารัฐบาลจะใช้พิจารณาในการหารือสองฝ่ายเองมากน้อยเพียงใด

จะพบว่านับเวลาก็เกือบจะครบ 2 ปีแล้ว การสู้รบที่ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุดนี้ ยังคงผลักให้หลายหมื่นแสนลมหายใจ ไขว่คว้าแสวงหาพื้นที่ปลอดภัยใหม่ บทบาทของ UNHCR จึงอาจพอประมวลได้ว่า เป็นการสนับสนุนความช่วยเหลือของรัฐบาล เพื่อรับประกันว่าทุกวันพรุ่งนี้ของผู้ลี้ภัย จะตื่นขึ้นมาดำรงชีวิตได้ใหม่ ตามศักดิ์ศรีและสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์คนหนึ่งได้

เรื่อง : ณัฐนนท์ เจริญชัย

Related Posts

Send this to a friend