HEALTH

กรมควบคุมโรค เตือน เล่นน้ำระวัง ไฟดูด-ไฟช็อต

แนะประชาชน เพิ่มความปลอดภัยช่วงสงกรานต์ เลือกเล่นน้ำในบริเวณพื้นที่ไม่มีปลั๊กไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า

วันนี้ (12 เม.ย. 66) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนที่ร่วมกิจกรรมเล่นน้ำช่วงสงกรานต์ ระวังไฟดูด ไฟช็อต ก่อนเล่นน้ำสำรวจจุดเสี่ยง เลือกเล่นน้ำในบริเวณพื้นที่ไม่มีปลั๊กไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า หากเล่นในอุโมงค์น้ำหรือปาร์ตี้โฟม ต้องมีการตรวจสอบการทำงานของระบบและเครื่องมือให้มีความปลอดภัยต่อการใช้งาน หากตัวเปียกห้ามสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด เมื่อพบผู้ถูกไฟช็อต ให้ตั้งสติ และช่วยเหลืออย่างถูกวิธี

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขอให้ประชาชนเล่นน้ำอย่างปลอดภัยช่วงสงกรานต์ ระมัดระวังอันตรายจากไฟดูด ไฟช็อต โดยอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น พบได้ทั้ง อาการชา ปวดกล้ามเนื้อ กระตุกรุนแรง เกิดแผลไหม้ ในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นหมดสติ หัวใจล้มเหลว และทำให้เสียชีวิตได้

ข้อมูลสถิติประเทศไทย ปี 2561-2562 โดยกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบจำนวนผู้ป่วยจากการสัมผัสกระแสไฟฟ้าช่วงวันสงกรานต์ และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จำนวน 47 ราย สาเหตุที่พบมีทั้งน้ำกระเด็นไปถูกปลั๊กไฟ สายไฟ ทำให้กระแสไฟฟ้ารั่ว และไฟฟ้าช็อต ร่างกายเปียกทำให้กระแสไฟสามารถไหลผ่านร่างกายได้ง่าย สายไฟหรืออุปกรณ์ชำรุด และไม่มีระบบกันน้ำซึ่งมีโอกาสเกิดไฟรั่วได้

สำหรับคำแนะนำการป้องกันไฟดูด ไฟช็อต ช่วงสงกรานต์ ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้

1.หากตัวเปียก ห้ามสัมผัสวัสดุนำไฟฟ้าทุกชนิด เช่น การเปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้า กดกริ่งไฟฟ้า เสียบปลั๊กไฟ ชาร์จโทรศัพท์มือถือ เครื่องเสียง เสาเหล็ก ราวสะพานลอย ป้ายโฆษณา

2.ระวังการเล่นน้ำใกล้เสาไฟฟ้า ในอุโมงค์น้ำ ปาร์ตี้โฟม อาจเกิดไฟรั่ว ไฟช็อตได้

3.ไม่สาดน้ำไปถูกอุปกรณ์ไฟฟ้า ปลั๊กไฟ สายไฟชำรุด

4.ขบวนแห่ระวังเกี่ยวสายไฟที่พาดผ่านตามเส้นทาง ก่อนเล่นน้ำควรสำรวจบริเวณจุดเสี่ยงโดยรอบ สำรวจจุดติดตั้งเครื่องตัดไฟ เมื่อเกิดเหตุจะสามารถหาจุดตัดไฟได้รวดเร็ว ตรวจดูว่าบริเวณที่เล่นน้ำมีปลั๊กไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสี่ยงหรือไม่ ถ้ามีควรเก็บให้เรียบร้อยก่อน หากพบสายไฟ ปลั๊กไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดต้องซ่อมแซมทันที รวมทั้งหากมีการเล่นในอุโมงค์น้ำหรือปาร์ตี้โฟน ควรตรวจสอบการติดตั้งอุปกรณ์ฉีดน้ำ ราวสายน้ำ การฉีดสร้างโฟมให้มีความปลอดภัย

นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ให้คำแนะและข้อปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับกรณีที่ถูกไฟดูด ไฟช็อต เพื่อให้ประชาชนสามารถปฐมพยาบาลได้ถูกวิธี ดังนี้

1.อย่าใช้มือเปล่าแตะตัวผู้ที่โดนไฟดูด ไฟซ็อต

2.ตัดกระแสไฟฟ้าในที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุดด้วยการถอดปลั๊ก ปลดสวิตช์ หรือคัตเอาต์

3.ใช้วัสดุที่ไม่นำไฟฟ้า เช่น ผ้าแห้ง เชือกแห้ง พลาสติกที่แห้งสนิท ถุงมือยาง ไม้แห้ง เขี่ยสายไฟออก ผลักหรือดึงตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็ว

4.หากเกิดไฟดูด ช็อตบริเวณที่มีน้ำขัง ให้ตัดกระแสไฟและเขี่ยสายไฟออกก่อนเข้าไปช่วย

5.หากผู้ป่วยหมดสติหรือหยุดหายใจ ให้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ทันที พร้อมทั้งให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

Related Posts

Send this to a friend