HEALTH

สธ.ย้ำประชาชนป้องกันตนเองต่อเนื่อง อาจได้รับเชื้อไม่รู้ตัวและแพร่คนในบ้าน

แนะกลุ่ม 608 และเด็กเล็ก 6 เดือน – 5ปี ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรไปฉีดวัคซีน เพื่อลดเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

วันนี้ (26 มิ.ย. 66) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมเผย สถานการณ์โควิด 19 ในไทยแนวโน้มลดลง แต่ผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป และยังไม่ได้รับวัคซีน ทั้งนี้ย้ำประชาชนยังต้องป้องกันตนเองต่อเนื่อง เพราะอาจได้รับเชื้อไม่รู้ตัว และนำมาแพร่ให้คนในบ้านได้ แนะให้พากลุ่ม 608 ไปฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปี พร้อมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ รวมถึงเด็กเล็ก 6 เดือน- 5ปี ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรไปฉีดวัคซีน เพื่อลดการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า “สถานการณ์โรคโควิด 19 ทั่วโลก รอบเดือนที่ผ่านมา มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับประเทศไทย โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตลดลง รวมทั้งพบการระบาด เป็นกลุ่มก้อนลดลงด้วย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่ม 608 โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป และยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 จึงขอให้ประชาชนยังคงมาตรการ ป้องกันตนเองเมื่อเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือมีกิจกรรมเสี่ยง เพราะอาจมีโอกาสได้รับเชื้อไม่รู้ตัว และนำไปแพร่ให้คนในบ้านได้ รวมทั้งสวมหน้ากากทุกครั้ง เมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และเด็กเล็ก ทั้งนี้ ขอให้บุตรหลานนำสมาชิก ในครอบครัวที่เป็นกลุ่ม 608 ไปฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปี พร้อมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ รวมถึงนำทั้งเด็กเล็กอายุ 6 เดือน – 5 ปี ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปฉีดวัคซีนเพื่อลดการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต”

“สำหรับสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่ยังคงเป็น สายพันธุ์โอมิครอนลูกผสม ซึ่งความสามารถในการแพร่ระบาด และความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น และยังสามารถตรวจหาเชื้อด้วย ATK และ RT-PCR ได้ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะติดตาม เก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยโควิด 19 ทั่วประเทศ ทั้งในชาวไทยและต่างชาติ เพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ อย่างต่อเนื่องต่อไป ส่วนยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ยังมีเพียงพอกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคประเมินสถานการณ์ทางระบาดวิทยาในระยะต่อไป เพื่อเตรียมการสำรองยาและเวชภัณฑ์ให้เหมาะสมต่อไป”

Related Posts

Send this to a friend