HEALTH

เตือน โรคลมแดดในเด็ก แนะผู้ปกครองดูแลใกล้ชิด

หมั่นดื่มน้ำบ่อยทุกชั่วโมง-งดกิจกรรมที่ต้องออกแรง หรือใช้กำลังกลางแจ้ง หากพบอาการผิดปกติหรือหมดสติ รีบนำส่งรพ.ทันที

วันนี้ (19 เม.ย. 66) นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เตือน โรคลมแดดในเด็กช่วงหน้าร้อน ที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม แนะดูแลอย่างใกล้ชิด สำหรับการป้องกันโรคลมแดดในเด็ก ทั้งนี้วันที่อากาศร้อนมาก ให้ดื่มน้ำบ่อยๆทุกชั่วโมง และสวมชุดเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย เลือกสีอ่อนๆ ลดกิจกรรมที่ต้องออกแรง หรือใช้กำลังกลางแจ้ง สวมหมวกหรือใช้ร่ม เมื่ออยู่ในที่กลางแจ้ง หากพบเด็กมีอาการผิดปกติ ตัวร้อนจัดแต่เหงื่อไม่ออก ผิวหนังแดง หัวใจเต้นเร็วและแรง มีอาการชัก หรือหมดสติ หากมีอาการเหล่านี้ ต้องรีบนำเด็กเข้าร่มในทันที หรือรีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

นายแพทย์วีรวุฒิ เปิดเผยว่า “ฤดูร้อนของประเทศไทยมีอุณหภูมิสูง และอากาศร้อนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นช่วงปิดเทอม ซึ่งส่วนใหญ่ครอบครัวพากันเดินทางท่องเที่ยว ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้นจากการเจอแสงแดด อากาศร้อน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดโรคต่างๆได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กร่างกายยังไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอ และอาจปรับตัวไม่ทัน ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ได้แก่ โรคลมแดด เนื่องจากร่างกายของเด็ก ยังปรับตัวต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ อาจสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย จากความร้อนได้ง่าย ซึ่งหากอุณหภูมิร่างกายสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส จะมีผลกับการทำงาน ของระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท อวัยวะอื่น ทำให้ระบบการทำงาน ของอวัยวะเหล่านั้นล้มเหลว จนเสียชีวิตได้ ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกต อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น และหากพบความผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง”

ด้าน นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า “โรคลมแดด คือ ภาวะฉุกเฉินที่อุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส เกิดจากการที่อยู่ในสถานที่ที่อากาศร้อนมากๆ และร่างกายไม่สามารถ ปรับตัวลดอุณหภูมิให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ส่งผลเสียต่อระบบประสาท หัวใจ และไต เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ สำหรับการป้องกันลมแดดในเด็ก โดยในวันที่อากาศร้อนมาก ให้ดื่มน้ำบ่อยๆทุกชั่วโมง ให้สวมชุดเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย เลือกสีอ่อนๆ ลดกิจกรรมที่ต้องออกแรง หรือใช้กำลังกลางแจ้ง สวมหมวกหรือใช้ร่มเมื่ออยู่ในที่กลางแจ้ง”

“ไม่ควรทิ้งเด็กไว้ในรถที่จอดกลางแจ้ง และให้สังเกตอาการผิดปกติ ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก เช่น ตัวร้อนจัดแต่เหงื่อไม่ออก ผิวหนังแดง หัวใจเต้นเร็วและแรง มีอาการชัก หรือหมดสติ หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบนำเด็กเข้าร่มในทันที การดูแลเบื้องต้นในกรณีที่เด็กเป็นลม คือ ให้เด็กนอนราบแล้วยกเท้าทั้งสองข้างให้สูง เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น หากเด็กยังมีสติอยู่บ้าง ควรให้เด็กได้จิบน้ำบ่อยๆ ทำให้ร่างกายเย็น ด้วยการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น และให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที”

Related Posts

Send this to a friend