HEALTH

ม.มหิดล วิจัยโรคลมพิษต่อเนื่อง พร้อมศึกษาสาเหตุโรค หวังพัฒนาการรักษาให้มีประสิทธิภาพ-ปลอดภัยขึ้น

‘โรคลมพิษ’ (Urticaria) เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ในทุกเพศ และวัย เป็นผื่นนูน แดง บวม มักมีขอบที่ชัด ขึ้นที่ผิวหนังได้ทั่วร่างกาย โรคแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แบบเฉียบพลัน (Acute Urticaria) ซึ่งหายภายใน 6 สัปดาห์ และแบบเรื้อรัง (Chronic Urticaria) คือ โรคเป็นนานกว่า 6 สัปดาห์

มหาวิทยาลัยมหิดล โดยโรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตระหนักถึงอุบัติการณ์ของโรคลมพิษ (Urticaria) ที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ตามสภาวการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลง จึงริเริ่มจัดตั้งคลินิกโรคลมพิษ (Siriraj Urticaria Clinic) ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2544 ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ป่วยไทยเข้ารับการรักษากว่า 300 รายต่อปี นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์ฯ ที่มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในสาขาที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย

ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ ผู้มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับโรคลมพิษ ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติมากถึง 76 เรื่อง ตลอดจนร่วมจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อการดูแลผู้ป่วยโรคลมพิษ ทั้งในระดับชาติ และระดับโลก ในฐานะผู้ก่อตั้ง Siriraj Urticaria Clinic ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการวินิจฉัย รักษา และวิจัยโรคลมพิษ

จากการวิจัยโดย ศ.พญ.กนกวลัย พบประมาณร้อยละ 34.5 ของผู้ป่วยชาวไทย โรคจะมีอาการสงบภายในเวลา 1 ปี การรักษาโรคลมพิษมีตั้งแต่การบรรเทาอาการคันด้วยยาทาสามัญประจำบ้านคาลาไมน์ (Calamine Lotion) ไปจนถึงการรับประทานยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) ตามแพทย์สั่ง เพื่อยับยั้งการเกิดผื่นคันบวมแดงที่ผิวหนัง อย่างไรก็ดี ยังพบข้อจำกัดของการใช้ยาต้านฮีสตามีนบางชนิด เช่น ในผู้ที่มีอาการป่วยบางโรคอยู่ก่อนแล้ว เช่น ต่อมลูกหมากโต ต้อหิน และโรคหืด ฯลฯ หรือผลข้างเคียงจากการรับประทานยาดังกล่าวที่ส่งผลต่อการทำงานของสมอง อาจก่อให้เกิดอาการง่วงซึม

นอกจากนี้ ยาต้านฮิสตามีนอาจไม่สามารถควบคุมอาการในผู้ป่วยทุกรายได้หมด จึงนำไปสู่การศึกษาสาเหตุต่าง ๆ ของโรคลมพิษ โดยเฉพาะแบบเรื้อรัง พบว่าผู้ป่วยบางรายเกิดจากภาวะโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune Disease) จึงใช้ยาที่พัฒนาใหม่เพื่อการรักษาตรงจุด ซึ่งจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ และปลอดภัยมากขึ้น

แม้โรคลมพิษจะแสดงอาการเพียงระยะหนึ่ง และสงบลงได้เอง แต่อาจกำเริบขึ้นอีกหากได้สัมผัสกับสิ่งที่กระตุ้น หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะกรณีแบบเฉียบพลัน อาจมีอาการรุนแรงได้แม้จะเกิดไม่บ่อยนัก ดังนั้นหากพบผู้ป่วยโรคลมพิษรายใดที่มีอาการผิดปกติ เช่น ริมฝีปากบวม ตาบวมมาก ประกอบกับมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ความดันโลหิตต่ำ ฯลฯ ควรรีบพบแพทย์

Related Posts

Send this to a friend