HEALTH

สสจ.โคราช เตือน อย่ากินหมูสุกๆ ดิบๆ หลังพบชาวโคราชป่วยไข้หูดับสูงสุด

วันนี้ (4 พ.ค. 65) สำนักสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา รายงานสถานการณ์โรคไข้หูดับในพื้นที่ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยข้อมูล ณ วันที่ 20 เมษายน 2565 ของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จังหวัดนครราชสีมามีผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 29 ราย เป็นจังหวัดเดียวที่มีผู้เสียชีวิต 7 ราย สอดคล้องกับรายงานของกลุ่มระบาดวิทยาและตอบโต้ฯ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ที่ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 20 เมษายน 2565 ทั้งประเทศพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ จำนวน 86 ราย มีผู้เสียชีวิต 7 ราย โดยภูมิภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง ตามลำดับ ขณะที่อัตราป่วยสูงสุดของประเทศ อยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา มีอัตราป่วย 1.14 ต่อประชากรแสนคน

ทั้งนี้ เฉพาะเขต “นครชัยบุรินทร์” พื้นที่ดูแลของเขตสุขภาพที่ 9 พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 23 เมษายน 2565 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับแล้ว 31 ราย เสียชีวิต 7 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตายร้อยละ 22.58 โดยมีจังหวัดนครราชสีมา มีอัตราป่วยสูงสุด 1.13 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือจังหวัดชัยภูมิ คิดเป็นอัตราป่วย 0.09 ต่อประชากรแสนคน ส่วนจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ ยังไม่พบผู้ป่วย

นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา จึงสั่งกำชับไปยังสาธารณสุขอำเภอทั้ง 32 อำเภอ ของจังหวัดนครราชสีมา ให้เร่งประชาสัมพันธ์เตือนประชาชน ป้องกันตนเองเพื่อไม่ให้เป็นโรคไข้หูดับ ด้วยการเลือกเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์แล้ว เลี่ยงการซื้อหมูที่จำหน่ายข้างทาง ตลาดขายเร่ ตลาดขายของป่า หรือซื้อหมูมาชำแหละเอง และยังกำชับขอความร่วมมือไปยังร้านจำหน่ายอาหาร ห้ามปรุงเมนูหมูสุกๆ ดิบๆ ให้กับลูกค้า

ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ขอให้เฝ้าระวังสุกรเป็นพิเศษ หากพบป่วยหรือตาย อย่านำหมูมาขายหรือชำแหละรับประทาน ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทราบโดยเร็ว และ ขอให้เทศบาลฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจประเมินโรงฆ่าสัตว์ สถานที่ชำแหละ ตลาดสด ตลาดนัด แผงหมู และรถพุ่มพวง ตามหลักสุขาภิบาลอย่างเคร่งครัดด้วย พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลระบาดวิทยาและสอบสวนโรคโดยเร็ว หากมีผู้ป่วยโรคหูดับในพื้นที่ใด หรือพบหมูตายผิดธรรมชาติ เพื่อเข้ามาตรวจสอบหาสาเหตุ และควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโดยเร็ว

Related Posts

Send this to a friend