HEALTH

กรมอนามัยชวนหญิงไทยอายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมเป็นประจำ ชี้ พบเร็ว อัตรารอดสูง

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชวนหญิงไทยอายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมเป็นประจำทุกเดือน ชี้ พบก้อนเนื้อ มะเร็งเร็ว มีโอกาสรอดร้อยละ 75 – 90 พร้อมแนะออกกำลังกาย เพิ่มกินผัก ผลไม้ ลดอาหารที่มีไขมัน และควบคุมน้ำหนักจะช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมได้อีกทางหนึ่ง

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า โรคมะเร็งเต้านมพบมากเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้หญิงไทย ซึ่งจากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ระบุว่า มีผู้ป่วยเฉลี่ยรายใหม่ 18,000 คนต่อปี หรือ 49 คนต่อวัน มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมราว 4,800 คน หรือคิดเป็น 13 คนต่อวัน ซึ่งกลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะพบในหญิงที่มีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน หรือเคยมีก้อนบริเวณเต้านม ที่ผลการตรวจพบว่าผิดปกติ มีประจำเดือนครั้งแรก ก่อนอายุ 12 ปี หมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี หรือเคยรับการฉายรังสีบริเวณทรวงอกก่อนอายุ 30 ปี และผู้หญิงที่สูบบุหรี่จัด ดื่มสุรา ไม่ออกกำลังกาย

โดยพบว่าผู้หญิงอายุ 15 – 49 ปี ที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น10 กิโลกรัม จะมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ในขณะที่ผู้ชายก็มีสิทธิ์เป็นมะเร็งเต้านมได้ 1 ใน 100 ของผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปทุกคน ควรตรวจเต้านมเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งจะทำให้รู้ถึงสภาพที่เป็นปกติของเต้านม หากเกิดความผิดปกติของเต้านมจะสามารถพบได้ ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยการตรวจเต้านมทำได้ 2 วิธี คือ

วิธีที่ 1 ดูด้วยตา คลำด้วยมือ ซึ่งการคลำมี 3 แบบ จะเลือกใช้แบบใดก็ได้ แต่ต้องให้มั่นใจว่าครอบคลุมเนื้อเยื่อเต้านมทั้งหมด ทั้งขอบด้านล่างเสื้อชั้นใน บริเวณหัวนม บริเวณใต้รักแร้ และไหปลาร้า อย่ายกนิ้วขึ้นจากเต้านมขณะคลำ

แบบที่ 1 การคลำในแนวขึ้นลง จากบริเวณกระดูกไหปลาร้าจนถึงด้านล่างของทรวงอก โดยคลำจากใต้รักแร้ หรือตำแหน่งใต้แขนจนถึงฐานของเต้านม แล้วขยับนิ้วทั้งสามคลำในแนวขึ้นลง และสลับกันไปเรื่อย ๆ ให้ทั่วทั้งเต้านม

แบบที่ 2 การคลำแบบแนวก้นหอย เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมบริเวณลานหัวนมไปตามแนวก้นหอย จนกระทั่งถึงฐานเต้านม ครอบคลุมถึงบริเวณรักแร้ และไหปลาร้า และ

แบบที่ 3 การคลำแบบแนวรูปลิ่ม เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมบริเวณลานหัวนมจนถึงฐานแล้วกลับขึ้นสู่ยอด อย่างนี้เรื่อย ๆ ให้ทั่วทั้งเต้านม ครอบคลุมถึงบริเวณรักแร้ และไหปลาร้า

นอกจากนี้ ควรคลำเต้านมให้ได้ 3 ระดับ ดังนี้ กดเบา ให้รู้สึกถึงบริเวณใต้ผิวหนัง กดปานปลาง ให้รู้สึกถึงบริเวณกึ่งกลางเนื้อนม และกดหนักให้รู้สึกถึงเนื้อนมใกล้กระดูกอก เมื่อคลำพบก้อนที่โตระยะขนาด 2 – 5 เซนติเมตร อัตราการรอดชีวิตมีถึงร้อยละ 75 – 90 แต่หากคลำพบก้อนขนาด 5 เซนติเมตรขึ้นไป อัตราการรอดมีเพียงร้อยละ 15 – 30 เท่านั้น

วิธีที่ 2 การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) สามารถพบก้อนได้ตั้งแต่ขนาด 2 – 3 มิลลิเมตรขึ้นไป ซึ่งจากข้อมูลของมูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พบว่า ระยะเริ่มต้น เป็นระยะที่มะเร็งยังไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อของเต้านม มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 100 ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อของเต้านม มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 100 ขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 98 ขนาดระหว่าง 2 – 5 เซนติเมตร มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 88 ขนาดใหญ่มากกว่า 5 เซนติเมตร มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 52 และ ระยะแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น มีอัตรารอดชีพร้อยละ 16

ประชาชนจึงควรหมั่นตรวจเช็คร่างกายตนเอง และพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งออกกำลังกาย เป็นประจำ กินผักและผลไม้ให้มากขึ้น ลดอาหารที่มีไขมัน ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มีน้ำหนักเกิน จะช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมได้

ด้าน ดร.นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ประธานมูลนิธิกาญจนบารมี กล่าวว่า มูลนิธิกาญจนบารมี เป็นมูลนิธิได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้จัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โดยมูลนิธิฯ ได้จัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาสโดยได้ดำเนินการติดต่อกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา

ซึ่งหน่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่แต่ละหน่วยประกอบด้วย รถเอกซเรย์เต้านมด้วยระบบดิจิทัล 2 มิติ และ 3 มิติ จำนวน 2 คัน รถสาธิตการตรวจเต้านม และรถนิทรรศการเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม พร้อมเจ้าหน้าที่ทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้ง 2 หน่วย ให้บริการประชาชนวันละ 1 อำเภอ ทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยการให้บริการประกอบด้วย

1) รณรงค์ให้สุขศึกษา เรื่องมะเร็งเต้านม

2) คัดกรอง ค้นหา ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม แล้วนำผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงมาสอนวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ตรวจเต้านม เอกซเรย์เต้านม และส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมในระยะเริ่ม ไปรักษาในโรงพยาบาลในจังหวัดนั้น ๆ

Related Posts

Send this to a friend