SOCIAL RESPONSIBILITY

R.I.D. Young Team ปี 2 สานต่อภารกิจพิทักษ์น้ำบนวิถี New Normal

เดินทางมาถึงปีที่สองแล้ว สำหรับโครงการสร้างเยาวชนคนรักษ์น้ำในนาม   R.I.D. Young Team ปี 2 น้ำมีชีวิต…ภารกิจพิทักษ์น้ำ  ภายใต้การสนับสนุนของกรมชลประทาน ที่ในปีนี้ยังคงแนวทางหลักคือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านกระบวนการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะมาเล่าเรื่องราวบ้านเกิดและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในมุมมองของพวกเขาเอง โดยที่ในปีนี้มีวิทยากรรับเชิญจากหลากหลายวงการมาให้ความรู้เด็กๆ ทั้ง ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวคนดัง, บอล – ทายาท เดชเสถียร, ยอด – พิศาล แสงจันทร์ สองนักเดินทางเจ้าของรายการหนังพาไป และ พลอย – พลอยไพลิน ตั้งประภาพร ศิลปินนักแสดงวัยรุ่น

นายมหิทธิ์ วงศ์ษา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ 2 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวถึงโครงการในปีนี้ว่าเป็นการขยายผลจากปีแรกสู่พื้นที่ใหม่ เพื่อสร้างจิตสำนึกนักอนุรักษ์ให้เยาวชนในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำ จากความสำเร็จคราวก่อนทำที่โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งมีชายขอบเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน-ปางสีดา มรดกโลกแห่งหนึ่ง มาถึงปีนี้ที่จัดโครงการ ณ เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ในวันที่ 24-25 กรกฎาคม 2563 ก็มีบริบทพื้นที่คล้ายกัน

“บริเวณขอบอ่างด้านบนเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญและเป็นมรดกโลกเหมือนกัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของนครนายก และพื้นที่ของเขื่อนขุนด่านมีเรื่องการท่องเที่ยว มีคนเข้ามาจำนวนมาก เราจึงเลือกพื้นที่นี้ เพื่อให้เยาวชนรอบๆ มาอบรมให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีอ่างเก็บน้ำเป็นที่ตั้งด้วย”

พื้นที่รอบเขื่อนขุนด่านปราการชลนับว่าเป็นทำเลทอง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ หากขาดการดูแลรักษาหรือความเอาใจใส่จากคนท้องถิ่น จะมีแต่สูญสลายไปทุกวันๆ กรมชลประทานจึงต้องการสร้างความตระหนักรู้ให้ทั้ง ‘คนนอก’ และ ‘คนใน’

มหิทธิ์บอกว่าหลังจากกรมชลประทานศึกษาโครงการอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ พบว่าเขื่อนขุนด่านมีสภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้นหลังจากสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วเสร็จ

มหิทธิ์ วงศ์ษา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ 2 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน

“เราพบว่าป่าไม้อุดมสมบูรณ์ขึ้น เนื่องจากคนไม่มีการบุกรุก เราสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วมีพื้นที่กันชน และมีการจัดตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานดูแลพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำ การมีอ่างเก็บน้ำทำให้ป่าไม้รอบๆ อุดมสมบูรณ์ขึ้น สัตว์ป่ามาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เวลาเราเก็บกักน้ำแล้วเวลาน้ำลดจะมีหญ้าขึ้น ก็เป็นแหล่งอาหารให้สัตว์ป่าได้เป็นอย่างดี”

วิทยากรจากสายสื่อสารมวลชนอย่าง ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นำประสบการณ์ที่ได้เดินทางทำข่าว มุมมองต่างๆ มากมายรวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมมาถ่ายทอดให้เด็กๆ ฟัง ผ่านหัวข้อ Good News Good Idea เพื่อสร้างมุมมองต่อสถานการณ์บ้านเมืองและข่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งสำหรับเด็กยุคปัจจุบันค่อนข้างห่างไกลจากการเสพข่าวสาร ส่วนมากอยู่โซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชั่นด้านความบันเทิง

“ข่าวคือการเรียนรู้นอกห้องเรียน อยากให้เด็กๆ สนใจข่าวสารของบ้านเมือง ข่าวสารของชุมชน ข่าวสารในโรงเรียน ข่าวเป็นเรื่องสำคัญที่อยู่กับตัวเรา ข่าวบางข่าวมีผลกระทบต่อสังคม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ข่าวจึงเป็นเหมือนหนังสือนอกห้องเรียน เด็กยุคนี้เกิดมาในโลกไร้พรมแดน ไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ดูทุกอย่างบนโลกนี้ได้จากโทรศัพท์มือถือ จากอินเทอร์เน็ต Good News ในความหมายของพี่จึงไม่ใช่ข่าวดี แต่ข่าวต้องสร้างเรื่องดีๆ ให้แก่ผู้คนและสังคม ถ้าเด็กๆ ติดตามข่าวนอกจากรู้เท่าทันสังคม ก็จะได้ความรู้นอกห้องเรียน”

ในมุมของผู้สื่อข่าว ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือเรื่องเล็กๆ ฐปณีย์บอกว่า โครงการ ‘RID Young Team 2 น้ำมีชีวิต ภารกิจพิทักษ์น้ำ ปี 2’ จะมีส่วนช่วยสร้างเยาวชนที่จะเป็นพลังสำคัญที่จะดูแลทรัพยากรในบ้านเกิดของพวกเขา

“นี่เป็นโอกาสที่เด็กในพื้นที่อาจไม่ค่อยมี แต่การมีโครงการนี้เป็นการให้โอกาสที่ดีมาก ได้ให้เขามาเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ประโยชน์ของการกักเก็บน้ำ ทำให้เขาได้เห็นเรื่องจริง และวิธีถ่ายทำ เขียนบท รายงานข่าว การตัดต่อ เป็นเหมือนการทำให้เขารู้จักเครื่องมือการสื่อสารให้เป็นประโยชน์ อย่างน้อยถ้าเกิดเหตุในพื้นที่เขาจะผลิตสื่อเพื่อบอกเล่าเรื่องราวได้ ทั้งในมุมดีและมุมสะท้อนปัญหา”

ด้าน บอลและยอด หนังพาไป วางกล้องแล้วมาคว้าไมค์ถ่ายทอดเรื่องราวระหว่างเส้นทางที่พวกเขาได้พบเจอจากการทำรายการ โดยเน้นไปที่เทคนิคการทำคลิปวิดีโอให้โดนใจคนดู เหมือนกับที่หนังพาไปทำได้มาตลอด 10 ปี ซึ่งโจทย์สำคัญในครั้งนี้ คือ ไม่ใช่แค่ทำคลิปให้ดัง แต่ต้องเป็นคลิปที่ดี สอดแทรกการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย

“สิ่งที่น่าสนใจคือผมถามเด็กๆ ว่า มีใครอยากเป็นนักเล่าเรื่องบ้าง ใครอยากเป็นยูทูบเบอร์บ้าง ปรากฏว่าเด็กหลายคนยกมือกัน เลยรู้สึกว่าถึงแม้เขาจะอยู่ต่างจังหวัด แต่นี่คือความฝันของเด็กรุ่นนี้เลย ซึ่งเราสองคนก็พยายามสอดแทรกการอนุรักษ์ในรายการของเราตลอด แต่ใส่แบบไม่ยัดเยียดเกินไป” ยอด หนังพาไป กล่าว

ส่วน บอล หนังพาไป บอกว่า ความน่าสนใจอีกอย่างคือเด็กๆ จะได้ลองถ่ายทำจริง การได้ก้าวไปสู่การลองทำครั้งแรกสำคัญมาก และสิ่งที่พวกเขาทำอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

“เราคิดว่าอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จากการทำคลิปวิดีโอเหล่านี้ แต่คงต้องใช้วิธีการต่างๆ เพื่อให้คนดูรู้สึกร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนั้น”

สำหรับนักแสดงสาวอย่าง พลอยไพลิน  ตั้งประภาพร ศิลปินนักแสดงวัยรุ่น พูดถึงการเป็นคนมีชื่อเสียงกับบทบาทด้านการอนุรักษ์ว่าถือเป็นข้อดีเพราะชื่อเสียงคือกระบอกเสียงที่ทำให้คนมาสนใจเรื่องการอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

“พลอยไม่ได้เป็นผู้ใหญ่มากนัก ก็ยังเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำให้คนรุ่นใหม่เห็นได้ว่าพลอยก็ทำเหมือนกัน เราก็เลือกที่จะทำเหมือนกัน” การได้มาถ่ายทอดประสบการณ์ทั้งผ่านเรื่องเล่าและคลิปวิดีโอการเดินทางของพลอย ดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ได้มาก โดยในเนื้อหาสอดแทรกมุมมองด้านการอนุรักษ์ที่ค่อนข้างเรียบง่ายและเข้าถึงได้ ซึ่งเหมาะสมกับช่วงวัยของเยาวชนที่เข้าอบรม “จริงๆ เราก็ไม่ได้เป็นนักอนุรักษ์ขนาดนั้น แต่อยากให้ธรรมชาติอยู่กับเรานานๆ เพราะเราอยากไปเที่ยว อยากเห็นธรรมชาติที่สวยงาม ก็เลยอยากจะช่วยให้มันอยู่กับเราไปนานๆ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ที่ให้เด็กได้ศึกษานอกห้องเรียน ไม่ใช่แค่ในตำรา ได้ไปเห็นสถานที่จริง ได้มาคุยกับวิทยากรจริง และได้ลงมือทำด้วย ดีที่ว่าได้ใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ไม่จำเป็นต้องดีหรือแพง เป็นการสอนที่ทำให้เด็กได้ทำและเห็นว่าทำได้จริงๆ”

สำหรับ กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ จากโครงการ เป็นใครไปไม่ได้นอกจากเยาวชนคนรักษ์น้ำจากสองโรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนวัดท่าด่าน และโรงเรียนบ้านดงวิทยาคาร

ด.ช.กฤษฎา นารส นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนวัดท่าด่าน บอกว่าที่สนใจมาร่วมอบรมเพราะเห็นว่ามีสอนการตัดต่อวิดีโอและเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะเขาหารายได้เสริมจากการเป็นคนคุมเรือล่องแก่งให้นักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องพึ่งพาอาศัยน้ำในอ่างเก็บน้ำ

 “ผมไม่ได้ขอเงินที่บ้านเลยครับ เพราะทำงานหาเงินเอง เป็นเด็กลงเรือล่องแก่งให้นักท่องเที่ยว เวลานักท่องเที่ยวล่องแก่งผมจะเป็นคนอยู่ท้ายเรือคอยดูทิศทางให้ มีรายได้วันละประมาณ 400 ทำเสาร์-อาทิตย์ ได้สัปดาห์ละ 800 บาท ก็พอใช้และมีเหลือเก็บครับ นอกจากที่ผมได้อาชีพจากเขื่อน การได้มาอบรมครั้งนี้ผมได้ความรู้เรื่องการตัดต่อด้วยครับ เพื่อที่จะเอาไปใช้กับการถ่ายวิดีโอให้คนอื่นเห็นความสวยงามของที่นี่ครับ และได้ความรู้เรื่องเขื่อนมากขึ้น หลังจากที่ผมรู้มาบ้างแต่ไม่ละเอียดขนาดนี้ เช่น เรื่องการผลิตกระแสไฟฟ้า การกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและการท่องเที่ยวที่ช่วยให้ประชาชนมีน้ำใช้และเศรษฐกิจดี”

ส่วน ด.ญ.พัชราวดี จิตรเสงี่ยม นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนบ้านดงวิทยาคาร เล่าความรู้สึกที่ได้ร่วมอบรมว่า ดีใจและภูมิใจที่ได้รับโอกาสนี้ เพราะเป็นความสนใจส่วนตัวทั้งการอนุรักษ์ธรรมชาติและการได้ทำกิจกรรมเพ่อสังคม

“หนูเป็นเด็กกิจกรรม อยากมาปลูกป่า มาทำกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติ บ้านของหนูอยู่ในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำ ที่บ้านปลูกส้มโอกับผลไม้อื่นๆ และเป็นร้านขายของชำ ซึ่งน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกก็มาจากเขื่อน พอรู้ว่าจะได้มาโครงการนี้ก็ดีใจและตื่นเต้นที่จะได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ได้ความรู้เรื่องการปลูกป่าและความรู้เกี่ยวกับเขื่อน เช่น ประวัติความเป็นมาของเขื่อนขุนด่านปราการชล เหมือนได้รู้ประวัติศาสตร์มากขึ้น ตอนทำกิจกรรมถ่ายคลิปวิดีโอกลุ่มของหนูทำเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแบบ New Normal มีพี่ยอด หนังพาไป เป็นพี่เลี้ยงกลุ่ม คลิปของหนูเล่าเรื่องถึงวิถีชีวิตใหม่ การมาเที่ยวโดยปรับตัวให้เหมาะสม ซึ่งความรู้พวกนี้หนูจะเอาไปบอกต่อให้เพื่อนและครอบครัวฟัง”

ด้วยรูปแบบการอบรมที่ต้องสร้างกลุ่มเด็กและเยาวชน แต่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกคนยังต้องระมัดระวัง เพื่อความปลอดภัยของทั้งเยาวชนและทุกคนในโครงการ RID Young Team 2 น้ำมีชีวิต ภารกิจพิทักษ์น้ำ ปี 2 จึงดำเนินการอยู่บนวิถีใหม่ New Normal

ทุกมาตรการเพื่อสุขอนามัย หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ 2 บอกว่านำมาใช้ทั้งหมด ทั้ง Social Distancing, ตรวจวัดอุณหภูมิทุกคนที่เข้าร่วมโครงการ, ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดการอบรม

“เราทำตามนโยบายของภาครัฐ ในการอบรมเราต้องมีมาตรการ ทำกิจกรรมต่างๆ โดยไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อ นอกจากสร้างบุคลากรที่จะออกไปอนุรักษ์ถิ่นฐานบ้านเกิดแล้ว ยังไม่สร้างปัญหาด้านสุขอนามัยแก่พื้นที่ด้วย”

ในแง่ผลสัมฤทธิ์หลังจากจบโครงการปีนี้ไป อาจวัดผลเป็นตัวเลขได้ยาก แต่จากการถอดบทเรียนเมื่อปีก่อน การสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนและสร้างความหวงแหนต่อคุณค่าในบ้านเกิดของพวกเขา สะท้อนผ่านการลงมือปฏิบัติคือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและนับเป็นความสำเร็จตามวัตถุประสงค์

“เรามีเป้าหมายโครงการว่าสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนบริเวณพื้นที่โครงการ เพราะเยาวชนนี่แหละจะเป็นตัวจุดประกายให้ผู้ปกครองมาช่วยกันป้องกันดูแลพื้นที่โครงการด้านสิ่งแวดล้อมได้ เพราะการใช้พื้นที่โครงการจากกรมอุทยาน เหมือนมีคำมั่นสัญญาว่าเราต้องรักษาพื้นที่ของเขาเป็นอย่างดี ไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เยาวชนจึงเป็นตัวแทนส่วนหนึ่งที่จะไปช่วยบอกต่อแก่พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ว่าการมีอ่างเก็บน้ำต้องมีการดูแล”

นี่จึงเป็นอีกครั้งที่เยาวชนจะได้เป็นพลังสำคัญกับภารกิจครั้งยิ่งใหญ่ ที่ไม่ได้จบในห้องเรียนหรือแค่การอบรมชั่วข้ามคืน แต่หมายถึงความรู้และการต่อยอดสู่การอนุรักษ์ โดยมีจุดแข็งที่ความเข้าใจในบริบทพื้นที่ สู่กระบวนการสื่อสารเรื่องราวด้วยสื่อสมัยใหม่อย่างคลิปวิดีโอ อันจะเป็นเครื่องมือเข้าถึงทุกคนได้อย่างดี

Related Posts

Send this to a friend