PUBLIC HEALTH

ปฏิทินปี 67 กับชีวิตใหม่ 9 ผู้ป่วยโรคอ้วน สร้างความตระหนักรู้ น้ำหนักตัวเกินป้องกันได้

ศูนย์รักษ์พุง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ชูศักยภาพการดูแลรักษาโรคอ้วนแบบองค์รวม ภายใต้แนวคิด ‘ชีวิตใหม่’ คุณทำได้ A Journey to The Healthier Life พร้อมเปิดตัวปฏิทินปี 2567 กับชีวิตใหม่ของตัวแทนผู้ป่วยโรคอ้วน 9 ราย ที่เคยรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด และกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ โรคอ้วนป้องกันและรักษาได้

เนื่องจากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าปี พ.ศ. 2559 ผู้ใหญ่มากกว่า 1.9 พันล้านคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปมีน้ำหนักเกิน ปัจจุบันโรคอ้วนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งนี้โรคอ้วนควรป้องกันตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก เพราะโรคอ้วนในเด็กจะส่งผล เช่น ขาโก่ง นอนกรน ระบบหายใจ หัวใจ พัฒนาการ และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรค NCDs ในวัยผู้ใหญ่ ที่สำคัญยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคเรื้อรังหลายชนิด

ศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ ศัลยแพทย์โรคอ้วน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ‘ศูนย์รักษ์พุง’ หรือ โครงการจัดตั้งศูนย์บำบัดรักษา และป้องกันโรคอ้วนและโรคเมตาโบลิคแบบครบวงจร จึงได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 โดยศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านการผ่าตัดส่องกล้อง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้ร่วมกับทีมแพทย์และสหสาขาวิชา ที่เกี่ยวข้องอีก 9 สาขา เนื่องด้วย ‘โรคอ้วน’ เป็นโรคที่ต้องทำการรักษา เพราะจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และสังคม ซึ่งการรักษาโรคอ้วน จะทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วย เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ตลอดกว่า 15 ปี ‘ศูนย์รักษ์พุง’ รักษาผู้ป่วยโรคอ้วนมานับหมื่นราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อ้วนมาตั้งแต่วัยเด็ก และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เคลื่อนไหวได้ไม่คล่องตัว หายใจลำบาก เหนื่อยหอบง่าย เนื่องจากผู้ป่วยจะมีขนาดอวัยวะที่ใหญ่ขึ้น และมีสรีระและระบบต่างๆ ของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงยังมีโรคร่วมมากกว่าหนึ่งโรคด้วย จึงจำเป็นต้องอาศัยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางพิเศษ หลากหลายสาขาร่วมกัน ทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ มีการใช้เทคโนโลยีและการรักษาที่ทันสมัย เพื่อยกระดับและพัฒนาการดูแลรักษา ให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจและมีความปลอดภัยสูงสุด เพื่อผลการรักษาที่ดีสำหรับผู้ป่วย ที่สำคัญเพื่อก้าวสู่ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ และเพิ่มขีดความสามารถ ในการดูแลรักษาและบริการผู้ป่วยโรคอ้วน และเมตาโบลิคแบบองค์รวม ที่พร้อมให้บริการในระดับมาตรฐานสากล ทั้งในประเทศและระดับโลก

สำหรับโรคอ้วน (Obesity) เป็นภาวะที่จัดเป็นโรคเรื้อรังอย่างหนึ่ง และเป็นภาวะที่สัมพันธ์ กับการเกิดโรคร่วมต่างๆ อาทิ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะปอดทำงานผิดปกติ หลอดเลือดสมองขาดเลือด ข้อเข่าเสื่อม โรคถุงน้ำดี โรคไขมันคั่งสะสมในตับ และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งควรสังเกตจากน้ำหนักตัว ที่มากกว่าปกติ หรือคำนวณด้วยค่าดัชนีมวลกาย BMI (Body mass index) โดยคิดได้จากน้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง เช่น น้ำหนัก 80 กิโลกรัม ส่วนสูง 160 เซนติเมตร หรือ 1.60 เมตร คำนวนค่า BMI = 80 / (1.60 x 1.60) เท่ากับ 31.25 กก./ตร.ม. เป็นต้น

ขณะที่ ‘ภาวะน้ำหนักเกิน’ และ ‘โรคอ้วน’ หมายถึงการสะสมไขมันที่ผิดปกติ หรือมากเกินไปซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยดัชนีมวลกาย (BMI) ที่มากกว่า 25 กก./ตร.ม. ถือว่ามีภาวะน้ำหนักเกิน และมากกว่า 30 กก./ตร.ม. ถือว่ามีโรคอ้วน ซึ่งควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ทั้งนี้โรคอ้วนควรป้องกันตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก เพราะโรคอ้วนในเด็กจะส่งผล เช่น ขาโก่ง นอนกรน ระบบหายใจ หัวใจ พัฒนาการ และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรค NCDs ในวัยผู้ใหญ่ ที่สำคัญยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคเรื้อรังหลายชนิด ซึ่งข้อมูลของ WHO ยืนยันว่าโรคอ้วนในวัยเด็กนั้ นมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่ รวมถึงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และภาวะทุพพลภาพ

ด้าน ผศ. (พิเศษ) พญ.พัชญา บุญชยาอนันต์ สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า แนวทางการรักษาในปัจจุบัน มีหลากหลายวิธี อาทิ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรักษาโดยการใช้ยา การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร และการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยโรคอ้วนแต่ละราย ควรได้รับการรักษาตามระดับความรุนแรงของโรค โดยจะเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หากไม่ได้ผลจึงมีการใช้ยาร่วมด้วย ปัจจุบันยาในการรักษาโรคอ้วน มีวิวัฒนาการในด้านประสิทธิภาพ และความปลอดภัยมากขึ้น เช่น ยาในกลุ่ม GLP-1 analogues ในรูปแบบปากกาฉีด ที่สามารถใช้ในการลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคอ้วนได้

ขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจต้องพิจารณา การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งการผ่าตัดมีด้วยกัน 2 วิธี ได้แก่ 1.การผ่าตัดลดกระเพาะอาหาร 2.การผ่าตัดบายพาส ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้ประเมินร่วมกับแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้อง ผู้ป่วยและผู้ดูแล และคำนึงถึงภาวะโรคอ้วนและโรคต่างๆ ของผู้ป่วยร่วมด้วย โดยแพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัด เมื่อผู้ป่วยโรคอ้วนมีค่า BMI ตั้งแต่ 32.5 กก./ตร.ม. เป็นต้นไป และมีโรคร่วมที่เป็นภาวะแทรกซ้อน หรือผู้ป่วยที่มีค่า BMI มากกว่า 37.5 กก./ตร.ม.

สำหรับผู้ป่วยหลายรายเคยพยายาม ลดน้ำหนักด้วยวิธีต่างๆ มาแล้ว มีทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ออกกำลังกาย แต่อาจไม่เพียงพอต่อการรักษาโรคอ้วน ดังนั้นผู้ป่วยที่มีเกณฑ์ในการรักษา ด้วยการผ่าตัดจะได้รับการเตรียมการอย่างถี่ถ้วน เพื่อเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งพบว่าผู้ป่วยสามารถควบคุมน้ำหนักให้คงที่ในระยะยาวได้ นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำหนักที่ลดลง ยังช่วยให้การรักษาโรคร่วมได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ลดอัตราการใช้ยาในการรักษาโรคหัวใจ ไขมัน และเบาหวาน โดยพบว่าสามารถรักษาผู้ป่วยเบาหวานได้หายขาดสูงถึง 80% ของผู้ป่วยทั้งหมดที่ได้รับการผ่าตัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน น้อยกว่า 10 ปี มีอัตราการหายขาดสูงเกือบ 100% นอกจากนี้ยังลดอาการของโรคกระดูกและข้อ รวมถึงทำให้โรคนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea) ดีขึ้น ที่สำคัญผลของการลดน้ำหนัก ยังทำให้ภาวะทางสุขภาพจิต และการเข้าสังคมของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ด้าน นายสามารถ เจริญสุข ผู้ป่วยโรคอ้วน เล่าว่า ได้ตัดสินใจรักษา ที่ศูนย์รักษ์พุง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยวิธีการผ่าตัดลดกระเพาะอาหาร ตั้งแต่ปี 2554 ด้วยน้ำหนักตัวอยู่ที่ 203 กิโลกรัม ขณะนั้นมีทั้งโรคความดัน หัวใจเต้นผิดปกติ ออกซิเจนในเลือดต่ำ หยุดหายใจขณะหลับและเคยหลับขณะขับรถ โดยทีมแพทย์ได้มีการเตรียมความพร้อม ของร่างกายและควบคุมความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด โดยใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน ทั้งนี้หลังจากผ่าตัดลดกระเพาะในปีแรก น้ำหนักเคยลดลงมาอยู่ที่ 95 กิโลกรัม และปัจจุบันอยู่ที่ 103 กิโลกรัม ตลอดการรักษามากว่า 11 ปี ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ไม่ถูกบูลลี่เหมือนแต่ก่อน สภาพร่างกายและสภาพจิตใจดีขึ้นมาก รู้สึกไม่เป็นภาระของภรรยา เดินไม่หอบเหนื่อย สามารถเดินขึ้นเขาได้ ส่วนโรคภัยต่างๆ ก็ดีขึ้นตามลำดับ

ศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ กล่าวว่า ในปีนี้ ศูนย์รักษ์พุง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มุ่งมั่นที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ สร้างความตระหนักรู้ ให้กับผู้ป่วยโรคอ้วน และผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ว่าโรคดังกล่าวสามารถป้องกันและรักษาได้ โดยได้เชิญชวนให้ตัวแทนผู้ป่วยรวม 9 ราย ที่เคยรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด และกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้แนวคิด ‘ชีวิตใหม่’ คุณทำได้ A Journey to The Healthier Life มาร่วมถ่ายทำปฏิทิน New Year New Life เพื่อร่วมเป็นแรงบันดาลใจ และสร้างความหวัง ให้กับผู้ป่วยโรคอ้วนรายอื่นๆ กลับมามีชีวิตที่สดใส ปราศจากโรคภัยอีกครั้ง ซึ่งปฏิทินปี 2567 นี้ จะถูกแจกจ่ายไปยังหน่วยงานต่างๆ

ทั้งนี้ ผู้ใช้สิทธิ์บัตรทอง ประกันสังคม หรือข้าราชการ สามารถใช้สิทธิในการรักษาโรคอ้วน ด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องส่อง (Laparoscopic Bariatric Surgery) ได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์รักษ์พุง โทร. 02-256-4000 ต่อ 71205 ทุกวันอังคาร-ศุกร์ เวลา 8.30 – 15.30 น. (ยกเว้นวันหยุดราชการ)

Related Posts

Send this to a friend