กทม. พร้อมเปิดภาคเรียนแบบ On-Site ภายใต้มาตรการคุมโควิด
กทม. พร้อมเปิดภาคเรียนแบบ On-Site อย่างปลอดภัย ภายใต้มาตรการการควบคุมโควิด-19 ในเด็กนักเรียน
วันนี้ (12 พ.ค. 65) นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ประจำปีการศึกษา 2565 ทั้งหมด 437 โรงเรียน ในวันที่ 17 พ.ค. 65 นี้ ในส่วนของสำนักการศึกษาได้เตรียมแผนการสอนและสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมรองรับการเปิดภาคเรียน โดยสำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย ได้ดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการวัคซีนโควิด-19 แก่กลุ่มนักเรียนอายุ 12-17 ปี ซึ่งควรได้รับวัคซีนกระตุ้น (เข็ม 3) และเร่งฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก
โดยมีสถานศึกษาจับคู่สถานพยาบาลเปิดฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 60% ให้แก่เด็กใน 2 ช่วงวัย คือ อายุ 5-11 ปี ในเข็มปกติ และอายุ 12-17 ปี เข็มกระตุ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ลดอาการรุนแรงและลดการเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันพบการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมากขึ้น ทั้งนี้สำนักอนามัย ร่วมกับสำนักงานเขตและโรงเรียนสังกัดกทม. จัดทีมเพื่อให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่นักเรียนชั้นอนุบาล 1- ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามแนวทาง school based โดยใช้โรงเรียนเป็นสถานที่ในการให้บริการ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการให้วัคซีนเข็มที่ 2 ในเด็กอายุ 5-11 ปี และจะวางแผนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่มีประวัติการได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม เป็นลำดับถัดไป
การฉีดวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นผลดีกับเด็กเพราะสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ ที่ผ่านมายังมีผู้ปกครองบางส่วนกังวลและไม่ให้เด็กรับการฉีดวัคซีน จึงได้มอบหมายให้สำนักอนามัย และสำนักการศึกษา ทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง เพราะการฉีดวัคซีนต้องทำด้วยความสมัครใจและได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง
อย่างไรก็ตาม ในเดือนนี้ (พ.ค. 65) มีข้อมูลที่น่าสนใจของผลการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิดในเด็กนักเรียน ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Pediatrics ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ของกุมารแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatrics: AAP) ทำการศึกษาที่ประเทศนอร์เวย์ โดยเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการปิดโรงเรียน กับการเปิดโรงเรียน และมีมาตรการป้องกันการติดเชื้อที่เหมาะสม และมุ่งเป้า (Targeted control measure) ตามระดับกลุ่มอาการเขียว เหลือง แดง ผลการศึกษาพบว่า
การปิดโรงเรียนไม่ได้ช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในเด็กได้มากกว่าการเปิดเรียน (No more school closure for COVID prevention in children) โดยที่มีมาตรการควบคุมการติดเชื้ออย่างเหมาะสมแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุผลที่จะใช้มาตรการการปิดโรงเรียนเพื่อควบคุมการระบาดของโควิดในโรงเรียน แต่ควรที่จะใช้วิธีการเปิดโรงเรียนควบคู่ไปกับการใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อที่เหมาะสมตามระดับความรุนแรงของการระบาดมากกว่า
ส่วนผลเสียของการปิดโรงเรียนที่มีต่อเด็กนักเรียนนั้นมีมากมาย ทั้งปัญหาทางสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ซึ่งควรใช้หลักการรักษาบนพื้นฐานของหลักฐาน (Evidence based medicine) และหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการปิดโรงเรียนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดในเด็กนักเรียน