PUBLIC HEALTH

พบผู้ป่วย โควิด-19 อีก 6 รายลักลอบเข้าประเทศ เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา

กระทรวงสาธารณสุขพบผู้ป่วยโควิด-19 ลอบเข้าประเทศเพิ่มอีก 6 ราย อยู่ที่พะเยา กรุงเทพฯ พิจิตร ราชบุรี และเชียงใหม่ 2 ราย มีความเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงในจังหวัดท่าขี้เหล็ก เช่นเดียวกันกับผู้ติดเชื้อ 4 รายแรก ขณะนี้อยู่ในการกักกันดูแลรักษา และติดตามผู้สัมผัส ยังไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศ ขอคนไทยอยากกลับบ้าน เข้าเมืองถูกกฎหมาย

วันนี้ (2 ธ.ค. 63) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงข่าวความคืบหน้าการสอบสวนโรคผู้ป่วยโควิด-19 จากจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา
 
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้เราพบคนไทยจำนวน 10 ราย ที่ติดเชื้อโควิด-19 มาจากจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา โดยเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติและเดินทางไปสถานที่ต่างๆ โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างการกักตัวและรักษาในโรงพยาบาล อาการอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนผู้สัมผัสของผู้ป่วยทั้ง 10 ราย จากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เบื้องต้นยังไม่พบว่ามีรายใดติดเชื้อ สรุปว่ายังไม่มีการติดเชื้อภายในประเทศ เป็นการนำเข้าเชื้อมา ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบการควบคุมป้องกันโรคว่าจะไม่เกิดการระบาดเหมือนช่วงต้นปี 2563 เนื่องจากประเทศไทยมีองค์ความรู้และประสบการณ์มากขึ้น แต่ต้องขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังภายในพื้นที่ของตนเองว่า มีคนไทยหรือชาวต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาโดยไม่ได้รับการกักกัน 14 วันหรือไม่ หากพบขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน มิเช่นนั้นอาจกลายเป็นผู้สัมผัสหรือเป็นผู้ติดเชื้อเองได้ และขอให้ทุกคนยังคงมาตรการป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง
 
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข

“ผู้ลักลอบเข้าประเทศมีความผิดตามกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ ขอให้ผู้ที่ไปทำงานในต่างประเทศและจะเดินทางกลับมา มีความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศ ด้วยการเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายตามช่องทางที่วางไว้ เพื่อเข้ารับการกักกัน 14 วัน และตรวจหาเชื้อ หากพบเชื้อจะได้รับการรักษา แต่หากลักลอบเข้ามาและไปในสถานที่ต่างๆ ทำให้มีผู้สัมผัสจำนวนมาก และต้องใช้งบประมาณสูงในการดำเนินการควบคุมสอบสวนโรค ติดตามผู้สัมผัสมาตรวจหาเชื้อ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 2 พันบาทต่อราย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวล สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทุกที่ในประเทศไทย ด้วยคงมาตรการใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง” นายแพทย์ธงชัยกล่าว

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคกล่าวว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มาจากจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา จำนวน 10 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยเก่าที่แถลงข่าวไปแล้ว 4 ราย คือ เพศหญิงอายุ 29 ปี ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพศหญิงอายุ 26 ปี 23 ปี และ 25 ปีที่จังหวัดเชียงราย จากการตรวจหาเชื้อผู้สัมผัสขณะนี้ยังไม่พบผู้ใดติดเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของรายที่เชียงใหม่ ที่มีการไปเที่ยวสถานบันเทิงด้วยกัน มีการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ก็ยังไม่พบการติดเชื้อเช่นกัน สำหรับผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 6 ราย เป็นเพศหญิงทั้งหมด โดยเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงเดียวกันที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก มีรายละเอียดดังนี้

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค

– เพศหญิงอายุ 28 ปี จังหวัดพะเยา กลับเข้าประเทศไทยวันที่ 27 พฤศจิกายน โดยเส้นทางธรรมชาติมายังอำเภอแม่สาย วันที่ 28 พฤศจิกายน เพื่อนขับจักรยานยนต์มาส่ง จากนั้นเหมารถแท็กซี่มาที่อำเภอเมืองเชียงราย พักห้องเช่าของเพื่อน มีออกไปซื้ออาหาร วันที่ 29 พฤศจิกายน อยู่ในห้องพัก ช่วงเย็นแฟนขับรถยนต์พาไปเที่ยวงานสิงห์ปาร์ค แต่อยู่เฉพาะลานเบียร์ จากนั้นไปโรงแรมที่พัก วันที่ 30 พฤศจิกายน ออกจากโรงแรมไปรับการตรวจหาเชื้อที่จังหวัดเชียงใหม่ เดินทางกลับพะเยามาเข้ารับการรักษาในห้องแยกโรค โรงพยาบาลพะเยา วันที่ 1 ธันวาคม ทราบผลว่าเป็นโควิด-19

– เพศหญิงอายุ 21 ปี กรุงเทพมหานคร วันที่ 17-27 พฤศจิกายน ไปเที่ยวสถานบันเทิงที่ท่าขี้เหล็กพร้อมเพื่อนที่อยู่จังหวัดพิจิตร วันที่ 28 พฤศจิกายน กลับเข้าประเทศไทยโดยเส้นทางธรรมชาติที่อำเภอแม่สายมีรถจักรยานยนต์รับจ้างมาส่งที่โรงแรม ต่อมาเริ่มมีไข้ เจ็บคอ น้ำมูก จากนั้นเรียกรถไปส่งที่สนามบินเชียงรายขึ้นเครื่องบินมาลงสนามบินดอนเมือง นั่งแท็กซี่กลับที่พัก วันที่ 29 พฤศจิกายน ไปรับการตรวจที่คลินิกแพทย์ได้รับคำแนะนำให้ไปโรงพยาบาล จึงนั่งรถยนต์ส่วนตัวมากับแฟนไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชน ผลการตรวจพบเชื้อโควิด-19

– เพศหญิงอายุ 25 ปี จังหวัดพิจิตร เป็นเพื่อนที่ไปเที่ยวสถานบันเทิงที่ท่าขี้เหล็กกับรายกรุงเทพมหานคร โดยเดินทางกลับมาพร้อมกันจนถึงสนามบินดอนเมืองเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน จากนั้นต่อเครื่องไปลงสนามบินพิษณุโลก มีเพื่อนมารับกลับจังหวัดพิจิตร พักอาศัยกับเพื่อนที่มารับ โดยวันที่ 28-30 พฤศจิกายน มีออกไปรับประทานอาหารข้างนอกและทำเล็บ วันที่ 1 ธันวาคม เมื่อทราบผลการสอบสวนโรคของรายกรุงเทพมหานคร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตรจึงติดตามมาตรวจหาเชื้อ นำเข้าสู่การกักกัน และ ผลตรวจยืนยันพบเชื้อ

– เพศหญิงอายุ 36 ปี จังหวัดราชบุรี วันที่ 3-28 พฤศจิกายนอยู่ที่เมียนมา โดยวันที่ 23-24 พฤศจิกายนไปเที่ยวสถานบันเทิง แล้วสังเกตว่าเพื่อนร่วมห้องเริ่มมีอาการป่วย วันที่ 26 พฤศจิกายน ตนเองเริ่มมีอาการไอ น้ำมูก เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ จึงซื้อยามากิน วันที่ 29 พฤศจิกายน เดินทางกลับประเทศไทยโดยช่องทางธรรมชาติ จากนั้นไปสนามบินเชียงรายด้วยรถยนต์ของเพื่อน นั่งเครื่องบินถึงสนามบินดอนเมือง ขึ้นแท็กซี่ไปสถานีขนส่งหมอชิต นั่งรถตู้กลับจังหวัดราชบุรี เมื่อถึงใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างไปโรงพยาบาลเอกชนเพื่อตรวจรักษา วันที่ 1 ธันวาคม ทราบผลว่าเพื่อนติดเชื้อโควิด-19 แพทย์จึงส่งตรวจหาเชื้อและส่งต่อรักษาโรงพยาบาลราชบุรี วันที่ 2 ธันวาคม ผลตรวจยืนยันพบเชื้อ

– เพศหญิงอายุ 23 ปี และ 25 ปี จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 26 พฤศจิกายนเดินทางกลับเข้าประเทศทางช่องทางธรรมชาติ พร้อมเพื่อนรวมเป็น 3 คน วันที่ 27 พฤศจิกายน นอนค้างบ้านเพื่อนที่อำเภอแม่สาย วันที่ 28 พฤศจิกายน เดินทางกลับมาที่พักที่เชียงใหม่ วันที่ 29พฤศจิกายน ให้ประวัติว่าอยู่ในที่พักตลอด วันที่ 30 พฤศจิกายน ผู้ติดเชื้อที่พะเยามาหาหลังจากไปตรวจหาเชื้อ วันที่ 1 ธันวาคม ไปฟังผลแทนเพื่อนพบว่าราย จ.พะเยาติดเชื้อ ทำให้เพื่อน 2 คนมารับการตรวจด้วย ผลพบติดเชื้อ 2 ราย เข้ารับการรักษาโรงพยาบาลนครพิงค์ ส่วนอีกรายผลเป็นลบ อยู่ระหว่างการกักกันเฝ้าระวังอาการ

นายแพทย์โสภณกล่าวว่า ทั้งหมดเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ โดยกำลังเร่งติดตามผู้สัมผัสทุกราย ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายมีผู้สัมผัสมากน้อยต่างกัน หากมีความรับผิดชอบสูงจะแยกตัว มีกิจกรรมภายนอกน้อย ทำให้มีผู้สัมผัสน้อย แต่บางรายมีการออกไปทำกิจกรรมจำนวนมากทำให้มีผู้สัมผัสมากถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะได้รับการกักกัน 14 วัน และตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำจะให้แยกตนเองเฝ้าระวังอาการ หากมีอาการให้รีบติดต่อเพื่อตรวจหาเชื้อ โดยเป็นมาตรฐานการปฏิบัติงานของทุกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยทั้งหมด 10 ราย พบว่า ไม่มีอาการ 5 ราย ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อน้อยกว่าผู้ที่มีอาการ ส่วนอีก 5 รายมีอาการแต่ไม่รุนแรง สำหรับผู้ที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องอยู่ใกล้ชิดหรืออยู่ในสถานที่เสี่ยงเดียวกับผู้ป่วยทั้ง 10 รายนี้ ขอให้ไปแสดงตัวกับบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลเพื่อรับคำแนะนำในการปฏิบัติตนเอง

Related Posts

Send this to a friend