KNOWLEDGE

The Reporters เปิดตัวโครงการ We Are The Reporters แนะวิธีรู้เท่าทันสื่อรู้เท่าทัน ‘เฟคนิวส์’

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 สำนักข่าว The Reporters ได้จัดเสวนาออนไลน์ “We Are The Reporters เพื่อการรู้เท่าทันสื่อ” ในประเด็นการใช้สื่ออนไลน์อย่างไรให้ถูกต้องเหมาะสม การรู้เท่าทันสื่อ และรู้เท่าทัน fake news พร้อมแนะนำกิจกรรม We Are The Reporters เพื่อการรู้เท่าทันสื่อ โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยนายภัทระ คำพิทักษ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม ประธานหลักสูตรวารสารศาสตร์บัณฑิต และอาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters พร้อมทั้งนักสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่ นายทศ ลิ้มสดใส น.ส.วรัทยา ปัทมวิทูร และนายเนติเชาวน์ คงแก้ว

น.ส.ฐปณีย์กล่าวว่า เราเป็นสื่อออนไลน์น้องใหม่ และกำลังมีโครงการ We Are The Reporters เพื่อการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อให้ทุกคนร่วมเป็นนักข่าวกับเรา ปัจจุบันสื่อออนไลน์มีจำนวนมาก การตั้ง The Reporters  ขึ้นมาเพื่อให้เห็นถึงมาตรฐานรายงานข่าวแบบนักข่าวบนสื่อออนไลน์ และปัจจุบันสื่อออนไลน์ทำหน้าที่มากกว่าสื่อกระแสหลักด้วยซ้ำ แถมมีอิทธิพลสูงกว่าสื่อกระแสหลักอีก

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters

สาเหตุที่ตั้ง The Reporters เพราะอยากให้เป็นตัวเลือกให้เกิดความหลากหลาย สร้างพื้นที่ข่าวให้กับข่าวอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้อยู่ในกระแส อย่างข่าวเรื่องค้ามนุษย์ ชาติพันธุ์ ข่าวที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เราเริ่มต้นจากความตั้งใจตรงนี้ บวกกับการที่เรามองว่าสื่อออนไลน์แม้จะมีประโยชน์มาก แต่ก็ทำให้เกิดเฟกนิวส์ขึ้นได้มากเช่นกัน จึงอยากทำสำนักข่าวนี้ให้เป็นทางเลือก เป็นสื่อที่ผู้อ่านสามารถเชื่อถือได้ เพราะเราทำข่าวเอง เป็นข่าวจริงยิงตรงจากสนามข่าว และเป็นสไตล์ที่ผนวกเอาความเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ และสื่ออนไลน์เข้าไว้ด้วยกัน

น.ส.ฐปณีย์ ยังย้ำว่า The Reporters ไม่มีกลุ่มทุนหนุนหลังแต่อย่างใด เริ่มต้นจากผู้ร่วมก่อตั้งทั้ง 3 คนลงทุนกันเองด้วยความมุ่งมั่นในวิชาชีพ และเริ่มจากการไม่มีอะไรเลย ผ่านมา 1 ปี เริ่มมีคนมองเห็น และให้การสนับสนุนเพิ่มขึ้นซึ่งต้องขอบคุณทุกฝ่ายมาก

นายภัทระ คำพิทักษ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า เทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนไปมากโดยมีสื่อออนไลน์เป็นแกนหลัก การเกิดของ The Reporters เป็นไปในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมากมาย การมีสำนักข่าวมากมายไม่ใช่เรื่องแปลก สมัยก่อนพอทำข่าวมีปัญหา เช่น ทับซ้อนกับนายทุนสื่อ เราก็แอบส่งให้เพื่อนไปเล่นแทน แต่เดี๋ยวนี้ต่างคนต่างมีสำนักข่าว การที่ข้อมูลมากมายจะทำให้เกิดความป่วยไข้เพราะเสพข้อมูลข่าวสารมาก แต่จะเป็นการแข่งขันว่าใครมีจุดยืนที่ดี และทำให้ผู้บริโภคลดการเจ็บป่วยไข้ลง

ภัทระ คำพิทักษ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

ส่วนกรณีข่าวปลอมที่เกิดขึ้นมากมายนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าเราไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ ตอนนี้มีการกุข่าว โฆษณาชวนเชื่อ การครอบงำทางความคิด เข้ามาปลอมปนอยู่กับข้อมูลข่าวสารทั่วไป แตกต่างจากอดีตที่สื่อมวลชนเป็นตัวกรอง แต่ปัจจุบันทุกคนเป็นสื่อด้วยตัวเอง ผู้บริโภคต้องมีหลักในการป้องกันตัวเอง ไม่มีใครช่วยท่านได้ เช่น พอมีชื่อพายุแปลกๆก็รีบแชร์เพราะต้องการยอดไลค์ แทนที่จะตรวจสอบก่อน หรือพอเห็นอะไรปริ๊ดก็ขอให้ฉุกใจก่อน และเทียบเคียงว่ามีสำนักข่าวอื่นนำเสนอหรือไม่

ผู้บริโภคต้องรู้ทัน ทดสอบ จดจำ คือรู้ทันข่าว มีการตรวจสอบ แล้วจดจำว่าเคยนำเสนออย่างไร ประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเองระดับหนึ่ง ต้องอ่านข่าวหลายสื่อ และควรรู้บุคคลิกของสื่อแต่ละชนิดเป็นอย่างไร

นายภัทระกล่าวว่า เราอยู่ในยุคสมัยที่คนไม่สนใจความเป็นจริงอีกต่อไป สถานการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลก มีสาเหตุจาก 1. สื่อเลือกข้าง 2. การเมืองเลือกขั้ว ใครพูดถูกจริตเราก็เชื่อสิ่งนั้น มีผลการวิจัยออกมาข่าวที่แชร์มากสุดคือเอามาจากเครือข่ายหรือเพื่อนฝูงโดยที่เราไม่เช็ค ดังนั้นเราต้องช่วยเหลือตัวเอง

ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม ประธานหลักสูตรวารสารศาสตร์บัณฑิต และอาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า The Reporters  มีบทบาทมากตั้งแต่ม็อบนักเรียนนักศึกษาในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะที่เรื่องของชาวบ้าน เช่น ชาติพันธุ์ คนไร้สัญชาติ ไม่อยู่ในสื่อกระแสหลัก การมีสื่อจำนวนมากเป็นสิ่งที่ดีเพราะประชาชนมีข้อมูลข่าวสารมาก แต่มีความหลากหลายและมีประโยชน์หรือไม่ยังเป็นคำถาม การที่มีสื่อออนไลน์ใครๆ ก็สื่อสารได้ แต่นั่นแค่สื่อสารไม่ใช่เป็นนักข่าว ทุกวันนี้เรามีทีวีเพิ่มขึ้นแต่ไม่มีความหลากหลายเกิดขึ้นและหลักของวารสารศาสตร์ถูกทำลายลงไปมาก วันนี้หลายคนกำลังจับจ้อง The Reporters   ว่าสำนักข่าวออนไลน์แห่งนี้มีอะไรทดแทนความน่าเชื่อถือของสื่อกระแสหลัก และ The Reporters  มาทำประโยชน์ให้ระบบนิเวศข่าวใหม่อย่างไร

ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม ประธานหลักสูตรวารสารศาสตร์บัณฑิต และอาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ข่าวพญาวานรเป็นเรื่องเจ็บปวดของสื่อ ทุกช่องเล่นหมด โชคดีที่ต้นเรื่องออกมาแถลงข่าวว่าเป็นลิงแสมสาร ทำดิฉันเกิดความสงสัยว่าไม่มีการตรวจเช็คก่อนเลยหรือ ข่าวนี้เริ่มต้นจากสำนักข่าวออนไลน์ใหญ่แห่งหนึ่งหลังจากนั้นทุกช่องเล่นตามหมดโดยไม่มีการเช็ค ถ้าเป็นสมัยก่อนเราต้องตรวจเช็คก่อน แต่วันนี้ทุกคนนำเสนอเลย การเป็นสำนักข่าวแล้วไม่ตรวจสอบข่าวก็กลายเป็นซุปเปอร์กระจายข่าว” ผศ.ดร.วิไลวรรณ กล่าว

สื่อต้องไม่เป็น Super Spreader แต่ต้องเป็น Super Corrector คือต้องตรวจสอบข้อมูล แก้ไขความเข้าใจผิดที่จะเกิดขึ้นกับสังคมอีกด้วย

ฐปณีย์ กล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวกับโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น “We Are The Reporters เพื่อการรู้เท่าทันสื่อ” ที่กำลังจะจัดขึ้นโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ เดอะรีพอร์ตเตอร์ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่ออบรม สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ การสร้างสังคมสื่อสร้างสรรค์ และการสร้างภูมิคุ้มกันเฟคนิวส์ โดยจะเปิดเผยรายละเอียดทางช่องทางต่างๆ ของ The Reporters เร็วๆ นี้

Related Posts

Send this to a friend