KNOWLEDGE

กสศ. จัดเสวนา “ภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้หลังโควิด-19 แนวทางฟื้นฟูรับเปิดเทอมใหม่”

พบปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำภาวะเรียนรู้ถดถอย เสนอ แก้ปัญหาระยะยาว จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning

วันนี้ (31 ต.ค.65) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และภาคีเครือข่าย จัดเสวนาวิชาการ “ภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้หลังโควิด-19 แนวทางฟื้นฟูรับเปิดเทอมใหม่” ณ ลานกิจกรรม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชั้น 13 อาคารเอส พี ทาวเวอร์ พหลโยธิน โดยมี ฐปณีย์ เอียดศรีไชย เป็นผู้ดำเนินรายการ

ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ โค้ชโครงงานฐานวิจัย (ป.4-ม.3) โครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า หลังเปิดภาคการศึกษา 1/2565 ได้ลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนในจังสงขลา พบว่า เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เขียนหนังสือไม่เป็นตัว เนื่องจากกล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง เช่นเดียวกับเด็กชั้น ป.2 ในจังหวัดปัตตานี นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการจับดินสอ จับแน่น ตัวก้มชิดสมุด มือเกร็ง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดพัฒนาการด้านประสาทสัมผัส ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

เป็นที่มาของการใช้เครื่องวัดแรงบีบมือ วัดสมรรถภาพความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดเล็กของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 1,918 คน จาก 74 โรงเรียน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ สตูล ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส พบเด็ก 98% มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน ซึ่งปกติค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 19 กิโลกรัม จากการทดสอบมีเด็กผ่านเกณฑ์เพียง 1.19% จึงได้ริเริ่มโครงการ PSU ครูรักศิษย์ ครั้งที่ 7 “การพัฒนาฐานกาย” หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการคือ โรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร (เพชรานุกูลกิจ) อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ดูแลโครงการโดย ครูนก จรรยารักษ์ สมัตถะ หลังจัดโครงการพบ ค่าแรงบีบมือเด็กมากขึ้น 0.5-2 กิโลกรัม

ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์ โค้ชกระบวนการวิทยาศาสตร์ (อนุบาล – ป.3) โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า เด็กมีความทุกข์ในห้องเรียนจากกล้ามเนื้อมัดเล็กอ่อนแรง ไม่สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ ส่งผลให้เกิดภาวะไม่เชื่อมั่นในตนเอง สุดท้ายทำให้เด็กขาดเรียนมากกว่าครึ่งห้อง

เด็กชั้น ป.1-3 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ต้องประคับคอง เสนอให้ครูใช้กระบวนการเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่าง กิจกรรมที่นำเชือกฝ้ายสานกันเป็นใยแมงมุม จุดใดเชือกสูงต้องข้าม เชือกต่ำต้องลอด และห้ามถูกใบไม้ที่แขวนอยู่ ทำให้เด็กได้ฝึกสังเกต ฝึกกกระบวนการคิด รวมรวบข้อมูล และทดลองทำ หลังทำกิจกรรม 2 สัปดาห์พบว่า เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น

รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ โค้ชโครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นว่าเด็กชั้น ป.2 ใน 74 โรงเรียน มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อมือ ดังนั้นโรงเรียน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานการศึกษาที่กำกับดูแล ต้องร่วมมือกันทำ “โมเดลพัฒนากล้ามเนื้อ” วัดค่าแรงบีบมือทุก 2 สัปดาห์ และสมรรถนะฐานกาย คาดการณ์ว่า เด็กจะมีค่าแรงบีบมือเพิ่มขึ้น 0.5-1.5 กิโลกรัม ภายใน 1 เดือน และมีค่าแรงบีบมือตามเกณฑ์มาตรฐาน ภายใน 6 เดือน

นายแพทย์ธีรชัย บุญยะลีพรรณ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย กล่าวถึงสถานการณ์พัฒนาการเด็กปฐมวัย ตั้งแต่แรกเกิด-ก่อนเข้า ป.1 มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ คู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย พร้อมระบุว่า เด็กไทยมีพัฒนาการสมวัย 75% ไม่สมวัย 25% ทั้งนี้จากผลการคัดกรองเด็ก 5 ช่วงวัยในปี 2564 พบว่า เด็กมีพัฒนาการล่าช้าจากสถานการณ์โควิด-19 ส่วนปี 2565 พบเด็กมีปัญหาการใช้กล้ามเนื้อมือจะล่าช้าราว 47%

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ในปี 2565 พบว่าสถานการณ์รุนแรง มีเด็กหางแถวและเกิดความเหลื่อมล้ำมากที่สุด พร้อมชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กฟังน้อยลง เนื่องจากขาดสื่อการเรียนรู้ ทำให้ทักษะภาษาและคณิตศาสตร์ของเด็กขาดหายไปกว่า 90%

ทั้งนี้หลังสถานการณ์โควิด-19 ยังพบว่า เด็กทำการบ้านและอ่านหนังสือน้อยลง แต่ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น จึงเสนอทางออกระยะสั้นให้มีการเปิดเรียนภาคฤดูร้อน ชดเชยเวลาที่ขาดหายไป และจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความพร้อมของเด็ก ส่วนทางออกระยะยาว ต้องพัฒนาทักษะการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง และยกระดับการศึกษาปฐมวัยด้วยจัดการเรียนการสอนแบบ “Active Learning”

รศ.ดร.วีระชาติ ทิ้งท้ายว่า ทุกคนเรียนเพื่อเติบโตเป็นอนาคตของชาติ หากเราไม่ได้ทำอะไร เด็กจะมีภาวะการเรียนรู้ถดถอยไปเรื่อย ๆ เมื่อไปอยู่ในตลาดแรงงานก็ขะกระทบต่อความสามารถในการพัฒนาประเทศ การแก้ปัญหาจึงต้องทำแบบ “วิ่งมาราธอน” หรือแก้ปัญหาระยะยาว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต

ปัจจุบันเด็กที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มเด็กที่ไม่มีทรัพยากร ไม่ได้รับการเรียนพิเศษ ฉะนั้นข้อเสนอการเปิดเรียนภาคฤดูร้อน จึงจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้เข้าถึงของการศึกษา เพราะหากเด็กมีภาวะการเรียนรู้ถดถอยไปเรื่อย ๆ สุดท้ายเด็กจะหลุดออกจากระบบการศึกษา

Related Posts

Send this to a friend