KNOWLEDGE

รู้จักมาตรการ Circuit Breaker ใช้เมื่อไหร่ และเพื่ออะไร

จากกรณีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยใช้มาตรการหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราว (Circuit Breaker) ในวันนี้เนื่องจากหุ้นตกอย่างต่อเนื่องถึง 10% หลังเปิดตลาดในช่วงบ่าย เรามาทำความรู้จักมาตรการ Circuit Breaker กันว่าคืออะไร

Circuit Breaker คือมาตรการที่นำมาใช้หยุดการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ชั่วคราว ในกรณีที่สภาวะการซื้อขายมีความผันผวนรุนแรง ราคาหลักทรัพย์โดยรวมเปลี่ยนแปลงลดลงมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบต่อการลงทุนอย่างครบถ้วน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์จะหยุดทำการซื้อขายโดยอัตโนมัติเป็นการชั่วคราว ตามหลักเกณฑ์ดังนี้ :

ครั้งที่ 1 เมื่อ SET Index เปลี่ยนแปลงลดลงถึง 10% ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้า จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งหมดเป็นเวลา 30 นาที

ครั้งที่ 2 เมื่อ SET Index เปลี่ยนแปลงลดลงถึง 20% (ลดลงอีก 10%) ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้าตลาดหลักทรัพย์จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง

และหลังจากการทำงานครั้งที่ 2 ของ Circuit Breaker แล้วตลาดหลักทรัพย์จะเปิดให้ทำการซื้อขายต่อไป จนถึงเวลาปิดทำการตามปกติโดยไม่มีการหยุดพักการซื้อขายอีก โดยหากระยะเวลาในรอบการซื้อขายที่ Circuit Breaker ทำงานนั้นเหลือไม่ถึง 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ก็ให้หยุดพัก การซื้อขายเพียงระยะเวลาที่เหลือในรอบการซื้อขายนั้นแล้วเปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์ได้ตามปกติในรอบ การซื้อขายถัดไป

อย่างไรก็ตาม อาจมีบางช่วงเวลาที่หลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์อ้างอิงต่างประเทศ (Cross-border Products) อาจเปิดซื้อขายไม่ตรงกันกับหลักทรัพย์อื่นๆ เนื่องจากไม่มีช่วงเวลาพักการซื้อขายระหว่างวัน (Non intermission)

(อ้างอิง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

ทั้งนี้ ในประเทศไทยเคยเกิดการหยุดซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราวมาแล้ว 3 ครั้ง

คือในวันที่ 19 ธ.ค. 2549 เวลา 11.26 น. พัก 30 นาที
ในวันที่ 10 ต.ค. 2551 เวลา 14.35 น. พัก 30 นาที
ในวันที่ 27 ต.ค. 2551 เวลา 16.04 น. พัก 30 นาที

โดยในการใช้ Circuit Breaker ครั้งที่ 1 หลังจากเปิดทำการใหม่ หุ้นตกลงไปอีกถึง 19.52% ซึ่งเหลืออีกเพียงเล็กน้อยจะต้องใช้มาตรการ Circuit Breaker เป็นครั้งที่ 2 แล้ว แต่มีแรงซื้อกลับเข้ามาทำให้ตัวเลขกระเตื้องขึ้น

(อ้างอิง: ขอบคุณข้อมูล Hoon Smart)

Related Posts

Send this to a friend