KNOWLEDGE

เปิดรายงานยูนิเซฟ ชี้เด็กไทย ‘เสี่ยงสูง’ จากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ยูนิเซฟ เปิดรายงานการศึกษา “การประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย” พบ เด็กในประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะเด็กในจังหวัดอุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช และนราธิวาส เผชิญความเสี่ยงสูงสุด โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบเด็กไทย ได้แก่ ภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง และอากาศร้อนจัด ซึ่งอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ การแพร่กระจายของเชื้อโรค และความไม่มั่นคงทางอาหาร ปัญหาดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ พัฒนาการ และความเป็นอยู่ของเด็ก

นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า “ทุกวันนี้เราเห็นผลกระทบของน้ำท่วม ภัยแล้ง ฝุ่นมลพิษ และสภาพอากาศร้อนจัดในประเทศไทยอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาวะทั้งทางร่างกาย และจิตใจของเด็ก และกระทบต่อพัฒนาการของเด็กในระยะยาว ทำให้เด็กๆเสี่ยงที่จะไม่สบาย ขาดเรียน หรือเข้าไม่ถึงบริการต่างๆที่จำเป็น ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ การขาดสารอาหาร ความเครียด และความตื่นตระหนก หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิตได้ เราอาจพูดได้ว่าภาวะเหล่านี้กำลังพรากอนาคตของเด็กๆไป แม้เรื่องนี้จะเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสิทธิเด็ก แต่กลับยังไม่ได้รับความสนใจและการแก้ไขเท่าที่ควร เด็กแต่ละกลุ่มกำลังเผชิญ ผลกระทบจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยเด็กจากครอบครัวยากจน เด็กในชนบท เด็กพิการ และเด็กโยกย้ายถิ่นฐาน คือกลุ่มที่มีแนวโน้ม จะได้รับผลกระทบมากที่สุด”

รายงานของยูนิเซฟเมื่อปี 2564 จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 163 ประเทศที่เด็กมีความเสี่ยงสูงสุด ต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้รายงาน The Coldest Year of the Rest of their Lives: Protecting Children from the Escalating Impacts of Heatwaves ของยูนิเซฟ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ชี้ให้เห็นว่าในปี 2563 เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในประเทศไทย จำนวน 10.3 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 75 ของเด็กทั่วประเทศต้องเผชิญคลื่นความร้อนที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น และหากยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง เด็กเกือบทุกคนในประเทศไทย จะได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนสูงบ่อยครั้งขึ้น และยาวนานขึ้นภายในปี 2593

จากรายงานการประเมินผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย ได้เสนอแนะแนวทางการดำเนินการ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเด็กในประเทศไทย ดังนี้

1.นโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องให้ความสำคัญกับเด็ก โดยต้องคำนึงถึงความต้องการของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ และต้องมีมาตรการที่จะปกป้องพวกเขาจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม

2.ส่งเสริมความตระหนักรู้ ความรู้ และทักษะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการดูแลสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็ก ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา เพื่อให้พวกเขาเข้าใจว่ากำลังได้รับผลกระทบอย่างไร และจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาได้อย่างไร

3.เสริมสร้างความเข้มแข็งและความยืดหยุ่น ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในชุมชนที่มีความเสี่ยงสูง ผ่านการเสริมสร้างความรู้และทักษะ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนการเตรียมความพร้อม การป้องกัน และการตอบสนองต่อภัยพิบัติ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาระบบเตือนภัยและเฝ้าระวัง ที่มีประสิทธิผลและทันต่อเหตุการณ์ ที่ทุกคนรวมทั้งเด็กในกลุ่มเปราะบางที่สุด สามารถเข้าถึงและปฏิบัติตามได้ง่าย

4.สร้างพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วม ในการแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับ วิธีการป้องกันและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตัวเอง

และในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 27 หรือ COP 27 ที่จัดขึ้นในประเทศอียิปต์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนมีบทบาทสำคัญมากขึ้น โดยเป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้มีพาวิลเลียน และเวทีถกเถียงในประเด็นนี้เป็นของตัวเอง ที่ซึ่งพวกเขาได้เรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายและภาคธุรกิจ เพิ่มความมุ่งมั่นและลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก

อีกทั้งในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้เปิดตัว U-Report ซึ่งเป็นแชทบอทในแอปพลิเคชัน LINE ที่เปิดโอกาสให้เยาวชน ได้แบ่งปันแนวคิดและแสดงความคิดเห็น ในประเด็นต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขา จากการสำรวจความคิดเห็นเยาวชนจำนวน 517 คน เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า เกินครึ่งหนึ่งของเยาวชน ที่ตอบแบบสอบถามบอกว่าพวกเขามีความรู้แค่ระดับพื้นฐาน หรือแทบไม่มีความรู้ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลย และร้อยละ 63 บอกว่าพวกเขาไม่รู้ว่า จะต้องรับมือภัยพิบัติ จากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างไร

ดังนั้นในปี 2566 นี้ คณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ จะให้ข้อคิดเห็นทั่วไป (General Comment no.26) ด้านสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอ้างอิงจากเสียงของเด็ก และเยาวชนในชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ข้อคิดเห็นทั่วไปนี้มุ่งเน้นให้รัฐบาลทั่วโลก มีมาตรฐานสากลในการปกป้องสิทธิเด็กจากผลกระทบของวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม

“ทุกคนและทุกภาคส่วนของสังคมล้วนมีบทบาท ในการสนับสนุนการดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่ออนาคตของเด็กในวันนี้และเพื่อโลก ที่อยู่อาศัยได้ในวันพรุ่งนี้ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยการเผยแพร่ข้อมูลและข้อเท็จจริง และที่สำคัญที่สุดคือ การให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับเด็กทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สุด ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

Related Posts

Send this to a friend