HUMANITY

‘แอมเนสตี้’ เปิดตัวรายงานสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ปี 65/66

‘แอมเนสตี้’ เปิดตัวรายงานสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ปี 65/66‘แอมเนสตี้’ เปิดตัวรายงานสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ปี 65/66 แนะไทยยกข้อกล่าวหา-ไม่ฟ้องผู้ชุมนุมโดยสงบ รื้อ ม.112-166 ถอนร่างฯ เอ็นจีโอ-พ.ร.ก.อุ้มหายฯ พร้อมคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์-ผู้ลี้ภัย

วันนี้ (28 มี.ค. 66) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2565/66 พร้อมทั้งส่งมอบรายงานให้กับผู้แทนรัฐบาล คือ นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สรุปรายงานว่า สิทธิมนุษยชนทั่วโลกกำลังถูกโจมตี เนื่องจากมีการกระทำทรมานใน 94 ประเทศ มีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรืออาชญากรรมสงครามใน 20 ประเทศ มีนักปกป้องสิทธิถูกจับกุมโดยพลการใน 76 ประเทศ และมี 49 ประเทศที่มีการบังคับส่งกลับผู้คนไปยังประเทศที่พวกเขาอาจเผชิญอันตราย

รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2565/66 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เน้นย้ำถึงภาวะสองมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก และความล้มเหลวของประชาคมโลก ที่จะรวมตัวสนับสนุนการนำหลักสิทธิมนุษยชนและคุณค่าอันเป็นสากลมาใช้อย่างต่อเนื่อง

การละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ปรากฏในการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย มีการโจมตีโดยไม่แยกพลเรือนกับทหาร ขณะเดียวกัน ลิเบีย ซีเรีย เยเมน ปาเลสไตน์ ก็มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน หลายประเทศมีการขัดขวางการชุมนุมประท้วงอย่างรัสเซียและจีน

นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุถึง ประเด็นความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ สิทธิทางเพศ และสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ เกิดขึ้นในเม็กซิโก ปากีสถาน และอินเดีย ประเด็นสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน ศรีลังกา และบังกลาเทศ เป็นต้น

แม้จะมีกลไกในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อย่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่เข้าสู่ปีที่ 75 ปฏิญญาเวียนนาและแผนปฏิบัติการเข้าสู่ปีที่ 30 และปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เข้าสู่ปีที่ 25 แต่รูปแบบพฤติกรรมบางอย่างของรัฐได้บ่อนทำลายตราสารเหล่านั้น เช่น ปฏิบัติตามอย่างไม่สอดคล้องหรือเพียงพอ ไปจนถึงท่าทีที่ลักลั่นในระดับนานาชาติ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงยืนยันว่า ต้องมีการจัดตั้งระบบสากลตามหลักนิติธรรมที่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน และต้องถูกนำมาใช้กับทุกคน และในทุกที่

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยว่า สำหรับประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้รัฐบาลจะเริ่มมีการเจรจากับกลุ่ม BRN แต่ภาคประชาสังคมก็ยังมีข้อกังขาถึงการเปิดให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมกับประเด็นดังกล่าว และยังมีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

แต่ในระดับชาติ แม้มีการยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ยังคงมีคดีความในข้อหานี้ค้างเติ่งอยู่ ซึ่งมักเป็นการชุมนุม ที่ไม่ใช่เพียงประเด็นการเมืองหรือการขับไล่นายกรัฐมนตรี แต่เป็นประเด็นปากท้องของประชาชนด้วย

ปิยนุช ยังกล่าวถึงการตรา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่แม้จะมีผลบังคับใช้ แต่กลับออก พ.ร.ก.เลื่อนมาตราที่เป็นหัวใจสำคัญออกไปถึงเดือนตุลาคม ตลอดจนประเด็นสิทธิชนเผ่าพท้นเทือง ประเด็นสิทธิของผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพ เป็นต้น

ท้ายที่สุด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มีข้อเสนอทั้งหมด 7 ข้อต่อรัฐบาลไทย ได้แก่

1.ประเด็นเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ เช่น ขอให้ยกเลิกข้อกล่าวหา สั่งไม่ฟ้องคดี และงดเว้นดำเนินคดีเพิ่มเติม ต่อผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสงบ สอบสวนเจ้าหน้าที่ผู้ต้องสงสัยว่าใช้กำลังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จัดอบรมเจ้าหน้าที่อย่างเหมาะสม และกำกับดูแลการใช้กระสุนยาง

2.ประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก เช่น แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกข้อกฎหมายที่ใช้ปราบปรามผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อย่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 มาตรา 326 มาตรา 338 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

3.ประเด็นเสรีภาพในการรวมกลุ่มหรือการสมาคม เช่น รัฐบาลต้องถอนร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทั้งยังประกันว่าสิทธิในการจัดตั้งและรวมตัวเป็นสมาคมจะต้องไม่ถูกควบคุมและจำกัด โดยให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อ 22 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

4.ประเด็นการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีที่เลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22-25 ของ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ

5.ประเด็นสิทธิของผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย และผู้อพยพ เช่น ให้ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ปล่อยตัวผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยที่ถูกควบคุมตัวเนื่องจากสถานะของการเข้าเมืองไม่ปกติ แสวงหาแนวทางอื่นนอกจากการควบคุมตัว และแก้ไขร่างประกาศคณะกรรมการคัดกรองบุคคลภายใต้ความคุ้มครองเพื่อประกันว่า กลไกคัดกรองระดับชาติให้ความคุ้มครองกับบุคคลทุกคนที่ขอลี้ภัยในประเทศไทย แก้ไขคำนิยามของ “ผู้ลี้ภัย” ให้สอดคล้องตามอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย

6.ประเด็นสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ให้นำตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสังหาร พอละจี รักจงเจริญ มาลงโทษโดยไม่ชักช้า ทั้งยังต้องประกันว่าโครงการพัฒนาและการอนุรักษ์ใด ๆ ต้องเคารพต่อสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ สอดคล้องตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

7.ประเด็นการเลือกปฏิบัติ ให้ยุติการเก็บและใช้ตัวอย่างดีเอ็นเอในวงกว้าง การใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าที่เลือกปฏิบัติ การบังคับให้ลงทะเบียนซิมการ์ดเพื่อสอดแนมข้อมูล โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่ชนพื้นเมือง ตลอดจนให้ประกันให้มีการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ทหารอย่างเข้มแข็ง

Related Posts

Send this to a friend