KNOWLEDGE

ตอกย้ำความสำคัญของสื่อในยุคโควิด-19 ต้องเป็นวัคซีนให้ประชาชน

ช่วยสร้างเกราะป้องกันให้สังคม นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ทำให้คนเกิดความเข้าใจผิดจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และช่วยสกัดกั้นข่าวปลอม สอท. เผย ข่าวปลอมมีจำนวนมากต่อวัน และการหลอกลวงทางออนไลน์มีมากขึ้นเรื่อยๆ

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ จัดเสวนาออนไลน์เรื่องสื่อควรนำเสนออย่างไรในยุคโควิด19 โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จตุรงค์ สุขเอียด บรรณาธิการข่าว 3 มิติ ดร.สังกมา สารวัตร นักวิชาการ และสื่อสารมวลชน ดร.ปานระพี รพิพันธุ์ สื่อมวลชน และอินฟลูเอนเซอร์ พญ.พิมพ์ใจ เดชรุ่งเรือง แพทย์ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เจ้าของเพจ Mhor Pimjai และ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนทางเทคโนโลยี ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์

สื่อควรเป็นวัคซีนทางสังคมให้กับประชาชน

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของข่าวลวง ข่าวปลอม มาพร้อมกับการแพร่ระบาดของโควิด19 ซึ่งเร็วกว่าข่าวอื่น 7-8 เท่า เมื่อทุกคนเป็นสื่อได้เองในยุคนี้ ทำให้การเผยแพร่ข่าวลวง ข่าวปลอมเกิดได้ไวมากขึ้น สื่อมวลชนเองก็ต้องช่วยคัดกรองการนำเสนอข่าว ไม่ให้เกิดการแพร่ข่าวลวงหรือข่าวปลอม สื่อควรเป็น “วัคซีนทางสังคมให้กับประชาชน” และกองทุนฯ จะทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนประเด็นนี้เพื่อสร้างสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ให้กับสังคม

“เราอยากเห็นคนไทยเปิดรับสื่ออย่างมีสติและส่งต่อสารอย่างมีคุณภาพ โดยมาร่วมกันเป็นจิตอาสาในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเรื่องการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้อยากเห็นองค์กรภาคีเครือข่ายจิตอาสานักสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ รวมตัวกันทำงาน ราอยากให้ทุกคนมาผลิตสื่อที่สร้างสรรค์ เพื่อรักษาสมดุลการใช้สื่อให้มีแต่เรื่องบวก เรื่องสวยงาม เรื่องชุมชน คนจะได้เห็นว่าโลกไม่ได้มีแต่เรื่องแย่ๆ อย่างเดียว” ดร.ธนกร กล่าว

ข่าวปลอมและการหลอกลวงยุคออนไลน์ แพร่กระจายได้ง่ายพอกับโควิด

จตุรงค์ สุขเอียด บรรณาธิการข่าว 3 มิติ ชี้ว่าในยุคดิจิทัล ข่าวปลอมเพิ่มมากขึ้น และกระจายได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น จากเดิมที่กระจากผ่านการเสพ “ข่าวลือ” แบบปากต่อปาก โดยส่วนหนึ่งคนที่แพร่ข่าวปลอมผ่านการแชร์ คือคนที่ไม่มีความรู้หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และกฎหมายบ้านเราก็ยังไม่สามารถจัดการได้ เพราะมองว่าเป็นการเผยแพร่ข่าวปลอมโดยไม่เจตนา ทั้งที่ในสมัยนี้แค่การพิมพ์ข้อความหรือตัดต่อภาพไม่กี่ภาพแล้วแชร์ออกไปเพื่อใส่ร้ายคนอื่นก็อาจจะสามารถฆ่าคนได้

“ในฐานะสื่อมวลชน เรามีจรรยาบรรณในการทำงานที่ชัดเจน และต้องระวังไม่ให้เกิดการเผยแพร่ข่าวปลอมแม้แต่ในเพจส่วนตัวของผมเองก็จะไม่แชร์ข่าวหรือข้อมูลที่ไม่รู้ที่มาที่ไป หรือแม้แต่ข้อมูลที่อ้างชื่อบุคคลท่านใดท่านหนึ่ง ก็ต้องกลับไปเช็คว่าบุคคลนั้นได้พูดเช่นนั้นจริงหรือไม่ก่อนจะแชร์ หรือเผยแพร่ต่อ เพราะในที่สุดแล้วความรับผิดชอบจะกลับไปสู่คนเผยแพร่อยู่ดี”

“เราต้องสร้างให้ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อข้อมูลที่เรากำลังจะส่งต่อออกไป หรือคนที่กระทำผิดมีบทลงโทษที่ชัดเจนและมีบทลงโทษจริงให้เห็นเป็นตัวอย่าง หรือการหาคนกระทำผิดว่าส่งข้อมูลออกมาจากคอมพิวเตอร์เครื่องไหน IP Address อะไร อยู่ที่ไหน อย่างไร ถือว่าตำรวจเองก็มีความสามารถในการสืบสวนทางเทคโนโลยีมากขึ้น แต่เราต้องทำให้คนเหล่านั้นได้รับโทษจริงๆ และคนทั่วไปที่ไม่ใช่สื่อมวลชน ถ้านำเสนอข่าวปลอมเองก็ต้องมีบทลงโทษ ต้องติดคุกเหมือนกัน แม้กระทั่งนักข่าวเองก็ตาม ถ้าทำผิดก็ต้องได้รับโทษ” จตุรงค์ กล่าว

สื่อต้องทำตัวให้ MAD มากขึ้น!

ดร.สังกมา สารวัตร นักวิชาการ และสื่อสารมวลชน กล่าวว่า การทำหน้าที่สื่อในยุคโควิด-19 ต้องปรับเปลี่ยนไปให้เข้ากับยุคดิจิทัล โดยเฉพาะจากการที่อำนาจในการนำเสนอไม่ได้อยู่ที่สื่อเพียงอย่างเดียว มีการดิสรัปชั่นจากการที่ผู้รับสารเข้าถึง และใช้สื่อในทุกแพลตฟอร์มร่วมกันมากขึ้น และในโลกดิจิทัลมีการแบ่งกลุ่มชัดเจนระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์ และผู้ที่เสียประโยชน์ ทำให้สื่อเองต้องปรับตัว และมีความระมัดระวังในการนำเสนอมากขึ้น จนปัจจุบันสื่อต้องเน้นเรื่องการตรวจสอบความถูกต้อง และข้อเท็จจริงมากกว่าการลงไปทำข่าวเสียด้วยซ้ำ และสื่อต้องมีความลึกในการนำเสนอที่มากขึ้นอีกด้วย

สื่อน่าจะเป็น “MAD” คือ M = media literacy – ความรู้เท่าทันสื่อ A = adaptation – ปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และ D = digitalization – เราต้องสร้างนิเวศน์สื่อให้ดี และใช้สื่อดิจิทัลให้เกิดประโยชน์” ดร.สังกมา กล่าว

ตำรวจไซเบอร์ ต้องให้วัคซีนประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมไซเบอร์

“เราต้องให้วัคซีนแก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ เพราะปัจจุบันคนไม่ทะเลาะกันบนถนนแล้ว แต่มาทะเลาะ บุลลี ด่าทอกันทางไซเบอร์แทน” พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนทางเทคโนโลยี กล่าว

พล.ต.ท.กรไชย เปิดเผยว่า จากการศึกษา พบว่าคนไทย 91% อ่านข่าวออนไลน์ และใช้โซเชียลมีเดียในการอัพเดทข่าวเป็นหลัก ใช้เฟสบุคมากเป็นอันดับ 8 ของโลก คนไทยคอมเมนท์บนเฟสบุคเฉลี่ย 8 ครั้ง/ เดือน (ซึ่งสถิติของทั่วโลกคือ 5 ครั้ง/ เดือน) และพบว่า เด็กไทยตกเป็นเหยื่อข่าวปลอม และการหลอกลวงทางไซเบอร์สูงมาก เพราะเราใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากขึ้น ซื้อ-ขายของออนไลน์ก็มากขึ้น จึงอยากแนะนำให้ คลิกช้าลง และคิดมากขึ้นเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

พร้อมกันนี้ ผบช. สอท. ยังแนะนำสื่อในยุคดิจิทัลว่า ควรนำเสนอข้อเท็จจริงให้รอบด้าน ไม่ใส่อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว ไม่พาดหัวแรงๆ เรียกกระแส ไม่เร่งรีบนำเสนอข่าว แต่ต้องตรวจสอบความถูกต้องเสียก่อน รวมถึงหลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวที่อาจจะสร้างความแตกแยกในสังคม และไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

การหลอกลวงทางไซเบอร์มีมากมาย ต้องสร้างความรู้เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อรับมือ

ดร.ปานระพี รพิพันธุ์ จาก IT 24 hrs. หรือ ไอที 24 ชั่วโมง ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ และเทคโนโลยี แนะนำว่า ปัจจุบันมีการหลอกลวงทางไซเบอร์ การสร้างข่าวปลอม หรือการแอบอ้างเยอะมาก คนดังหลายๆ คนถูกนำภาพไปใช้ในการโฆษณา หรือ ถูกนำไปแอบอ้าง ทั้งในการสื่อ และการรับสื่อจึงต้องตรวจเช็คให้ดู และรู้เท่าทันเทคโนโลยี

การตรวจสอบภาพ หรือข้อความต่างๆ ว่าเป็นภาพจริงหรือไม่ นำข้อความเก่าๆ หรือเรื่องเก่าทิ่พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริงมาใช้หรือไม่ สามารถทำได้ง่ายๆ โดยการนำ keyword หรือภาพไปค้นหาเพื่อเปรียบเทียบ และเช็คข้อมูลเบื้องต้นได้ โดยสื่อเองก็ต้องระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลเพิ่มขึ้น

การใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างความเข้าใจในยุคโควิด-19

พญ.พิมพ์ใจ เดชรุ่งเรือง แพทย์ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เจ้าของเพจ และติ๊กต่อก Mhor Pimjai ที่ทำสื่อให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องด้านสุขภาพ และโควิด-19 ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เน้นย้ำว่า การทำสื่อให้เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย ชัดเจน และสนุกสนาน ทำให้มีคนสนใจ และเข้าถึงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน อย่างไรก็ตามเราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของความถูกต้องของข้อมูล และระมัดระวังในการนำเสนอ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ เพราะมีผลต่อชีวิตของคนโดยตรง

“ในฐานะที่เราทำคลิปเพื่อสื่อสารออกไปทางสื่อออนไลน์ เราต้องมีข้อมูล มีแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจน จึงมานำเสนอข้อเท็จจริงแบบเข้าใจง่ายเพื่อให้ผู้ขมเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในประเด็นต่างๆ ที่กำลังเป็นที่สนใจในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวัคซีน ผลข้างเคียงของวัคซีน การใช้หน้ากากอนามัย ฯลฯ เรื่องเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพของผู้ฟังจึงต้องระมัดระวังก่อนการนำเสนอ” พญ.พิมพ์ใจ กล่าว

ในยุคโควิด-19 ที่ผู้คนใช้เวลาบนโลกไซเบอร์ และเปิดรับสื่อออนไลน์มากขึ้น สื่อ และการใช้สื่อออนไลน์มีความสำคัญมากขึ้น จึงต้องระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหาข้อเท็จจริงต่างๆ มากขึ้น และผู้อ่าน หรือผู้ชมเองก็ต้องใช้วิจารณญานในการรับสื่อมากขึ้น คิด วิเคราะห์ แยกแยะ รวมถึงตรวจสอบความถูกต้องต่างๆ ก่อนที่จะเชื่อ หรือเผยแพร่ต่อข้อความใดๆ เพื่อป้องกันการเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อข่าวปลอมที่สร้างความเดือดร้อน เสียหาย หรือแตกตื่นให้กับสังคม และคนใกล้ตัว

ชมการเสวนา

Related Posts

Send this to a friend