BUSINESS

สมาคมขนส่งทางเรือ ถกเครียด ค่าระวางเรือ สูง-คอนเทนเนอร์ขาด กระทบส่งออก

สมาคมขนส่งทางเรือ ถกเครียด ปัญหาค่าระวางเรือสูงขึ้น-ขาดตู้คอนเทนเนอร์ กระทบการส่งออกปีหน้า 

เวทีเสวนาออนไลน์ “สถานการณ์ขนส่งสินค้าทางทะเลและแนวโน้มอัตราค่าระวางเรือ ปี 2022” โดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) สมาคมเจ้าของเรือและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ หรือ BSAA และสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หรือ TIFFA 

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สรท. กล่าวถึงทิศทางการส่งออกปี 2565 ว่า การส่งออกของไทยจะขยายตัว 5% จากตลาดต่างๆ ที่เริ่มฟื้นตัวมากขึ้น มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ผู้ส่งออกยังต้องเจอปัญหาต้นทุนค่าขนส่งระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนแรงงาน ค่าเงินบาท เงินเฟ้อ การขาดแคลนวัตถุดิบ และปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

นายชัยชาญ ระบุว่า เพื่อแก้ปัญหาค่าระวางเรือ ขาดพื้นที่บนเรือ และขาดตู้คอนเทนเนอร์ เบื้องต้น ภาคเอกชนต้องตกลงกับลูกค้าให้ชัดเจน และต้องให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกด้านขนส่ง เพิ่มความคล่องตัวและหมุนเวียนการขนส่งสินค้าเข้าออกท่า เพราะจะช่วยหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์เข้าออกได้มากขึ้น ส่วนในระยะยาว ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัว เพราะระบบโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรของไทยยังมีไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการ 

ด้านนายพิเศษ ฤทธาภิรมย์ ประธานสมาคม BSAA กล่าวถึงกรณีที่ประเทศต้นทางมีปัญหาความแออัดในการนำเรือเข้าท่า จนกระทบการหมุนเวียนตู้เรือ นำมาสู่ปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ หรือ สเปซ ตู้เปล่าในเรือลดลง จนกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะเส้นทางหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป อาจจะเจอปัญหาความล่าช้า จากปกติใช้เวลา 6 เดือน อาจขยายเป็น 1-2 ปี ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยมีความเป็นไปได้ว่า จะต้องเผชิญปัญหานี้ไปจนถึงกลางปี 2565

นายพิเศษ ระบุว่า ปัญหาดังกล่าวทำให้ช่วงที่ผ่านมา มีลูกค้าโดยเฉพาะจากจีนติดต่อให้มีการต่อเรือเพิ่มขึ้น โดยมีบริษัทสายเดินเรือขนาดใหญ่หลายสายเปิดให้บริการเช่าเรือและต่อเรือเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรือขนาดใหญ่ที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ 1-2 หมื่นตู้ ทำให้จำนวนเรือเปล่ามีเพิ่มขึ้น 20-30% จากปกติ 24 ล้านทีอียู ซึ่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนเรือ มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น ช่วยลดการใช้แรงงานบนเรือลง เหลือไม่เกินลำละ 10 คน

Related Posts

Send this to a friend