KNOWLEDGE

ลดความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ-ลดการพึ่งเสี่ยงโชค แนะ หนุนคนรายได้น้อย เข้าถึงแหล่งเงินทุน

ศาสตราจารย์ ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และการทดลองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยข้อมูลล่าสุด ความหวังของนักเสี่ยงโชค ที่สะท้อนความจริง ด้านความล้มเหลวในการจัดการ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ และเศรษฐกิจของประเทศ ที่ปัจจุบันนโยบายทางด้านเศรษฐกิจเอื้อนายทุน ทำให้เงินและทรัพยากรทางการเงิน ตกอยู่ที่กลุ่มนายทุนเพียงกลุ่มเดียว ที่เป็นผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ ที่เอื้อกับอุตสาหกรรมแค่บางประเภท ที่กลุ่มทุนเหล่านี้เป็นผู้ถือครองอยู่ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลที่ตามมาก็คือความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่มากขึ้น คล้ายกับการยึดรัฐโดยกลุ่มทุน ทำให้คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนเข้าถึงทรัพยากรและเงินทุนได้ยากขึ้น และไม่สามารถรวยขึ้นได้ เพราะนโยบายทางเศรษฐกิจไม่เอื้อให้คนจนเติบโต นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ พึ่งพาหวย ลอตเตอรี่ รวมไปถึงแชร์ลูกโซ่และธุรกิจสีเทาต่างๆ เพื่อจะมีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคม มีฐานะและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ผศ.ดร.ธานี กล่าวว่า “ ในหลายประเทศผู้ซื้อลอตเตอรี่ อาจหวังแค่ความสนุกที่จะได้ลุ้น มากกว่าที่จะหวังรวยจากลอตเตอรี่จริงๆ แต่ในประเทศไทย การเสี่ยงดวงกับตัวเลขเป็นเรื่องจริงจัง เห็นได้จากการถ่ายทอดสด การจับรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลทุกงวด การรายงานข่าวผู้โชคดีถูกหวยหรือลอตเตอรี่ และอีกหลายข่าวทางสื่อต่างๆ ที่บอกใบ้เลขเด็ดเพื่อชี้ช่องรวยให้ใครหลายคน

“เรามักจะได้ยินคนพูดกันว่าการซื้อหวย คือการซื้อความหวัง แต่หากมองให้ลึกกว่านั้น คนส่วนใหญ่ที่หวังจะถูกหวยหรือลอตเตอรี่ เพราะเขาแทบไม่เหลือความหวังอื่น ในชีวิตที่จะร่ำรวยขึ้นได้อีกแล้ว เราอยู่ในสังคมที่คนยากจน มีโอกาสแทบจะเป็นศูนย์ ในการเลื่อนชั้นทางสังคม (social mobility)ยิ่งเป็นคนระดับล่าง โอกาสขยับขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางก็ยิ่งยาก เมื่อเป็นชนชั้นกลางแล้ว อยากจะเลื่อนขึ้นไปเป็นคนรวยก็ยากขึ้นไปอีก การฝากความหวังไว้ที่หวยของคนไทย จึงเป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ชัดเจน ดังนั้นหวยและลอตเตอรี่จึงเป็น “ความหวัง” ที่หลายคนเห็นว่าคุ้มที่จะเสี่ยง ทั้งนี้การลงทุนในหุ้นคริปโต การเทรดค่าเงินตรา แชร์ลูกโซ่และธุรกิจสีเทาต่างๆ ที่กำลังเป็นประเด็นข่าวร้อนในปัจจุบัน ดูจะเป็นเทรนด์ในหมู่คนรุ่นใหม่ และชนชั้นกลางที่หวังจะรวยเร็ว และรวยลัด ในขณะที่คนจำนวนมากในสังคม หันเข้าหาหวยและลอตเตอรี่ แต่ไม่ว่าจะเล่นหรือซื้ออะไร ช่องทางดังกล่าวล้วนตั้งอยู่บนความหวัง ในการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งสิ้น”

“ถ้าเราเป็นชนชั้นล่างถึงกลาง โดยเฉพาะชนชั้นล่าง ที่ไม่ได้รับการศึกษาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง เกิดในครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะ ไม่ได้มีธุรกิจ ไม่ได้มีทรัพย์สินที่จะเป็นหลักประกัน ในการต่อยอดหรือเริ่มต้นทำธุรกิจ แล้วหวังที่จะร่ำรวยหรือขยับสถานะทางสังคม เราจะทำอะไรได้บ้าง การซื้อลอตเตอรี่คือความหวังเดียวในชีวิต ที่จะมีโอกาสในการมีเงิน 6 ล้านบาทอยู่ในบัญชี ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าการจะมีเงิน 6 ล้านบาทในบัญชีจากการทำงานไม่ง่ายนัก ลอตเตอรี่จึงเป็นสิ่งที่สื่อสารว่านี่คือโอกาสในการเลื่อนชนชั้น”

“แล้วเพราะอะไรการเลื่อนชั้นในสังคมไทย จึงมีอัตราที่ตํ่ามากๆ ขอยกตัวอย่าง State Capture หรือ การยึดรัฐ การยึดรัฐ หมายถึงการที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ สามารถมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ คำว่า “ยึดรัฐ” เกิดขึ้นช่วงแรกๆ ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มประเทศเล็กๆ ที่นายทุนหรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ถือครองทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือพลังงาน และกลุ่มทุนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อรัฐบาล ผ่านการกุมอำนาจทางเศรษฐกิจ และสามารถกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจได้ ในช่วงต้นเราจะยังไม่ค่อยเห็นปัญหาของ State Capture เพราะการที่นายทุนเข้ามามีบทบาท ต่อนโยบายเศรษฐกิจ ช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้”

“แต่มาวันนี้เราเริ่มเห็นผลเสียของการยึดรัฐ นั่นคือเงินและทรัพยากรทางการเงิน ทั้งหลายในประเทศ กระจุกอยู่กับนายทุนหรือกลุ่มทุน ที่เป็นผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ ที่เอื้อกับอุตสาหกรรมแค่บางประเภท ที่กลุ่มทุนเหล่านี้เป็นผู้ถือครองอยู่ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและมากขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาก็คือความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่มากขึ้น การยึดรัฐโดยกลุ่มทุนทำให้คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนเข้าถึงทรัพยากรได้ยากขึ้น และไม่สามารถรวยขึ้นได้ เพราะนโยบายทางเศรษฐกิจไม่เอื้อให้คนจนเติบโต แต่เอื้อให้คนรวยได้กำไร คนจำนวนมากที่เป็นชนชั้นกลางถึงล่าง ทำงานหนัก แข่งขัน ปากกีดตีนถีบแค่ไหน ก็รวยขึ้นได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น พอนานๆเข้า ความเหลื่อมล้ำก็สูงขึ้นเป็นเท่าทวี และสูงขึ้นบนฐานความชอบธรรม ที่ถูกกำหนดโดยนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจ”

“ไม่เพียงประเทศไทย แต่อีกหลายประเทศในอาเซียน ก็มีภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจคล้ายๆ กัน คือกลุ่มของเศรษฐีหรือตระกูล ที่มีความมั่งคั่งยังเป็นคนกลุ่มเดิม กับเมื่อ 20-30 ปีก่อน ประเทศไทยเป็นประเทศเล็กๆไม่ได้ร่ำรวยมาก แต่เรามีมหาเศรษฐีที่ติดอันดับโลกเยอะขึ้น อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ มั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ GDP ของประเทศก็ไม่ได้สูงมาก คนระดับล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ อาจมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ก็ในอัตราที่น้อยกว่า หรือยากจนลงโดยเปรียบเทียบ”

ส่วนกรณีศึกษาของประเทศตะวันตก ที่มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ โดยยกตัวอย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลุ่มมหาเศรษฐีในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ยังมีคนหน้าใหม่ๆเข้ามาบ้าง อาจจะมีบ้างที่ยังเป็นคนเดิมๆ แต่ก็จะมีคนใหม่ๆ เปลี่ยนหน้าเข้ามาเรื่อยๆ นั่นแปลว่าคนในประเทศของเขามีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคมหรือ social mobility สูง ดังนั้นการกุมอำนาจรัฐ ผ่านการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูง

“สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เสนอให้รัฐกำหนดนโยบายหลักๆ 2 ประการ คือ 1.สร้างมาตรการที่ส่งเสริมการแข่งขัน ทางการค้าอย่างจริงจัง และ 2.ออกนโยบายที่ส่งเสริมโอกาส ให้คนทั่วไปสามารถเป็นผู้ประกอบการที่เติบโตได้ ยกตัวอย่างเช่น การเข้าถึงสินเชื่อที่เอื้อให้รายเล็กเติบโตได้มากขึ้น การส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่ขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคล กระจายทุนและโอกาส อาทิ งานช่าง งานออกแบบ งานฝีมือต่างๆเป็นต้น หากสามารถลดระดับความสัมพันธ์ของกลุ่มทุน และรัฐลงได้อย่างเหมาะสม ให้คนชั้นล่างของสังคมได้เข้าถึงทุน และโอกาสในการแข่งขันอย่างทั่วถึง จนสามารถมีความหวังที่จะมีชีวิตที่ดี และมีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคมอย่างยุติธรรม ถึงเวลานั้น ราอาจจะเห็นคนจ่ายเงิน ซื้อความหวังลมๆแล้งๆ อย่างการซื้อลอตเตอรี่ หรือฝากอนาคตไว้กับการลงทุน ที่มีความเสี่ยงสูงน้อยลง”

Related Posts

Send this to a friend