KNOWLEDGE

ยกระดับศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร

การส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยยากจนทั้งในและนอกระบบให้ได้รับการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการลดปัญหาเด็กหลุดจากระบบกลางคัน และลดอัตราเด็กเล็กไม่ได้ศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์

กสศ. จับมือ กทม. สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ยกระดับศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานครจำนวน 292 ศูนย์ เด็กจำนวน 22,713 คน ควบคู่กับการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยยากจนทั้งในและนอกระบบให้ได้รับการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่อง โดยมี พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. ร่วมพิธีเปิด “โครงการการขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัย และเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า กทม. มีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนจำนวน 292 ศูนย์ มีเด็กจำนวน 22,713 คน แต่ปัจจุบันการจัดบริการสาธารณะเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนเปราะบาง หรือที่มีความต้องการพิเศษยังขาดกลไกและบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางวิชาการมาช่วยเหลือ ดังนั้น สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนิน  “โครงการการขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร”  เพื่อพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน และยกระดับศักยภาพของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร ให้มีขีดความสามารถในการดูแล ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่ยากจนและมีภาวะยากลำบากให้ได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป

นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ในช่วงปี 2562 กสศ. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่ยากจนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่อยู่ในสังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 20 จังหวัด ทุกภูมิภาค ภายใต้โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีเป้าหมายเพื่อให้จังหวัดมีขีดความสามารถที่จะดำเนินการปฏิรูปการศึกษาหรือจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนได้เองในระยะยาว

ในปี 2563 กสศ. ได้กำหนดนโยบายขยายการช่วยเหลือไปยังเด็กปฐมวัยที่ยากจนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยให้ความสำคัญกับการค้นหา คัดกรอง และนำเด็กกลุ่มดังกล่าวกลับเข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร จะช่วยเตรียมความพร้อมและลดอัตราการไม่เข้าศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้เป็นอย่างมาก

“พื้นที่ กทม. มีเด็กยากจน ช่วงปฐมวัย 13,000 คน ยังไม่ได้รับการศึกษาในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน อันนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ กสศ. อยากชวนให้หาเด็กกลุ่มนี้ให้เจอ เรามีเครื่องมือที่จะใช้คัดกรองน้องๆ เป็นรายบุคคล เพื่อดูสภาพปัญหาและแนวทางช่วยเหลือ ส่วนครูในศูนย์พัฒนาเด็ก กสศ. อยากให้ได้รับการพัฒนาทักษะ เรื่องการเรียนการสอน การดูแลเด็กโดยเฉพาะกลุ่มที่ยากลำบาก ซึ่งต่างจากการดูแลเด็กที่มีความพร้อมมากกว่า ทางสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มีเครื่องมือในการที่จะชวนคุณครูมาพัฒนาการเรียนการสอน ไปสู่น้องๆ เพื่อให้เป็นหน่วยจัดการศึกษาที่เด็กๆ อยากมาเรียน สนุกกับการมาเรียน สามารถดูแลเด็กได้อย่างเต็มที่ เราเชื่อว่าครูจะสนุกกับวิธีการและเครื่องมือ อยากให้มั่นใจว่าเครื่องมือได้ผ่านการพัฒนามาแล้ว แต่ก็ยังต้องได้รับการพัฒนาต่อเนื่องให้เหมาะสมกับบริบท ความเข้มข้นของปัญหา เพื่อที่จะขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามเมื่อเราทำงานช่วงนี้ผ่าน กสศ. อยากเห็นเด็กมาเรียนได้ในทุกๆ วัน ได้รับการดูแลตามสมควร และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เด็กเล็ก ช่วงอายุ 3-5 ปี สามารถไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เด็กที่ยังไม่ได้เรียน ได้รับโอกาสทางการศึกษา 10 ปีต่อจากนี้ จะไม่เห็นเด็กต้องกลายเป็นเยาวชนนอกระบบการศึกษา แต่จะเป็นกำลังคนที่มีคุณค่าของประเทศต่อไป ” นายพัฒนะพงษ์ กล่าว

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปี 2561 – 2562 สถาบันได้ทำการศึกษากลุ่มเด็กยากจน 458 ครอบครัวในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 3 จังหวัด พบว่า กลุ่มเด็กยากจนขาดแคลนที่มีภาวะวิกฤตครอบครัว ร้อยละ 53.5 มีการแตกแยกหย่าร้างของพ่อแม่ ร้อยละ 25.3 มีความรุนแรงในครอบครัว ร้อยละ 14 ผู้เลี้ยงดู มีการใช้สารเสพติด ร้อยละ 69  ได้รับการดูแลที่ไม่บรรลุผลสุขภาวะ ร้อยละ 24 มีพัฒนาการล่าช้า ร้อยละ 9 มีพัฒนาการล่าช้ามาก จึงได้ผลักดันนโยบายการคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยงสูงและรูปแบบการเยี่ยมบ้านโดยทีมบูรณาการเพื่อแก้ปัญหากลุ่มเด็กยากจน โดยมีศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนเป็นจุดเชื่อมโยงทีมบูรณาการในพื้นที่ ซึ่งโครงการการขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร” เพื่อยกระดับการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ยากจนและมีภาวะวิกฤตครอบครัว โดยใช้ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในชุมชน (ศพด.) ที่อยู่ในการสนับสนุนของกรุงเทพมหานคร เป็นฐานสำคัญในการนำการช่วยเหลือและส่งเสริมพัฒนาการกลุ่มเด็กปฐมวัยยากจนในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ไม่น้อยกว่า 10,000 คน และเด็กปฐมวัยนอกระบบ ไม่น้อยกว่า 1,000 คน และอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร จะได้รับการพัฒนาให้มีขีดความสามารถในการช่วยเหลือและส่งเสริมพัฒนาการกลุ่มเด็กยากจนที่มีภาวะความยากลำบาก แนวทางการทำงานที่ได้จะเป็นประโยชน์ในการขยายผลในเมืองต่างๆ ต่อไป

Related Posts

Send this to a friend