การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ต้องเริ่มต้นที่การยกระดับคุณภาพโรงเรียน

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวระหว่างการประชุม “ยกระดับคุณภาพโรงเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ : ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teachers & School Quality Program : TSQP) ว่า โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองจะทำให้การศึกษาของไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในระดับมหภาค ทั้งในแง่ของคุณภาพ และการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการพัฒนาในระดับประเทศด้วย ดังที่ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ได้นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลของประเทศไทยว่า หากจะดึงให้เศรษฐกิจประเทศดีขึ้น ต้องดึงเด็กที่เรียนหนังสือไม่จบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีอยู่ 20% กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้ ซึ่งจะช่วยดึงความถดถอยของเศรษฐกิจกลับมาได้ถึง 3% โดยสิ่งที่ กสศ.ทำอยู่คือเรื่องคุณภาพการเรียนการสอน และการดึงไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา
“กสศ. ได้คัดเลือกโรงเรียนขนาดกลางเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนกว่า 700 แห่ง หรือคิดเป็น 10% ของโรงเรียนทั้งประเทศ เพื่อเป็นตัวอย่างในการดำเนินการ ก่อนที่ในอนาคตจะขยายโครงการไปสู่การสนับสนุนและพัฒนาโรงเรียนที่เหลือจนครบทั้ง 100%” นายสุภกร กล่าว
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการสนับสนุนให้โรงเรียนเกิดการพัฒนาคุณภาพตนเอง และเกิดผลสำเร็จด้านการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการพัฒนาโรงเรียนในชนบทที่มีนักเรียนด้อยโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้แก่ครู ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย โดยการหนุนเสริมให้โรงเรียนสร้าง (Growth Mindset) ให้เกิดกับโรงเรียน ครู นักเรียนและเครือข่ายผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้รู้สึกว่าอยากพัฒนาตนเอง ผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติ เชื่อในตนเองมากกว่าเชื่อทฤษฎี และพึ่งตนเองมากกว่าพึ่งผู้อื่น
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า ปีการศึกษา 2562 กสศ. ได้สนับสนุนให้โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาขนาดกลาง 290 แห่ง เกิดการพัฒนาคุณภาพตนเอง และเกิดผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ ทั้งในแง่การเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และการบริหารจัดการ โดยในปี 2563 กสศ. จะดำเนินการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลางเพิ่มอีก 443 แห่ง มีสถานศึกษาสังกัด สพฐ. อปท. และ สช. ร่วมด้วย และมีภาคีเครือข่ายใหม่ร่วมสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีก 6 เครือข่าย เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบร่วมกัน